วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

พระพุทธศาสนาวิเคราะห์

บทที่ ๒
๑. กำเนิดพระพุทธศาสนา
๒. งานประกาศศาสนา (Missionary Works)
๓. พระพุทธศาสนากับหลักการสังคมสงเคราะห์
๔. พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ
๕. หลักความเชื่อขั้นสูง ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา
๖. พระพุทธศาสนากับหลักการครองเรือน
๗. พระพุทธศาสนากับเรื่องกรรม
๘. พระพุทธศาสนากับสตรี
๙. การเข้าถึงพระพุทธศาสนา ๓ ประการ
๑๐. คำสอนของพระพุทธเจ้า
๑๑. ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา


กำเนิดพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นหนึ่งในสามศาสนาที่สำคัญ ๆ ของโลก
มีแหล่งกำเนิดในดินแดนที่เรียกกันว่า "ชมพูทวีป" ปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกไปเป็นหลายประเทศ เช่น
อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน และเนปาล เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงถือกำเนิด
ดินแดนที่อยู่ทางเหนือของชมพูทวีป ปัจจุบันดินแดน แห่งนั้นอยู่ในเขตแดนประเทศเนปาล
ทรงประสูติที่สวนลุมพินีวัน (ปัจจุบันเรียกว่า รุมมินเด เเขวง เปชวาร์)
ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับนครเทวทหะ (ปัจจุบัน กรุงกบิลพัสดุ์อยู่ในประเทศอินเดีย
ห่างจากสวนลุมพินีวัน ๑๒ ไมล์ และนครเทวทหะอยู่ในประเทศเนปาล ห่างจากสวนลุมพินีวันประมาณ ๑๒
ไมล์เช่นกัน, ๑ ไมล์เท่ากับ ๑.๖ กม. ) ในวันวิสาขะเพ็ญเดือน ๖
ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกษัตริย์ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์เมืองหลวงของแคว้นสักกะกับพระนางสิริมหามา
ยาราชธิดาของกษัตริย์โกลิยวงศ์ผู้ครองนครเทวทหะ เมื่อแรกประสูติ มีดาบสคนหนึ่งชื่อว่า อสิตดาบส หรือ
กาฬเทวิลดาบส ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเป็นที่นับถือของราชตระกูลมาก
เมื่อได้ทราบข่าวการประสูติของพระราชกุมาร จึงเข้าไปในพระราชวังเพื่อขอชมพระกุมาร
เมื่อท่านได้เห็นพระกุมารมีลักษณะถูกต้องตามปุริสลักษณะที่ดีเลิศ
ก็ทราบว่าต่อไปภายหน้าพระกุมารนี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
จึงได้ลุกขึ้นจากที่นั่งคุกเข่าลงถวายอัญชลีแล้วกราบลงที่พระบาทของพระกุมาร และถือว่าเป็นบุญตาของตนเอง
แต่เมื่อพิจารณาสังขารเห็นว่าตนเองจะต้องตายเสียก่อนจึงพลาดโอกาสที่จะได้มรรค ผล และนิพพาน
มีความเสียดายยิ่งนักถึงกับร้องไห้ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ได้เห็นดังนั้นจึงพากันพิศวงยิ่งนัก
ต่างก็พากันไต่ถามพระดาบส เมื่อได้ทราบความว่าพระกุมารจะต้องเป็นผู้มีเดชานุภาพยิ่งใหญ่ต่อไปในภายหน้า
ต่างก็พากันกราบพระกุมาร แม้พระเจ้าสุทโธทนะเองก็ทรงกราบพระกุมารเช่นกัน แล้วอสิตดาบสก็ทูลลากลับ



พิธีขนานพระนาม
เมื่อพระโอรสประสูติได้ครบ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะมีพระประสงค์จะทรงทำพิธีทำนายลักษณะและขนานพระนาม
โดยให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมางานสโมสรกินเลี้ยง จากนั้นให้คัดเลือกเอาพราหมณ์ที่เก่งที่สุด ๘ คน
ในจำนวนพราหมณ์ร้อยแปดนั้นให้เป็นผู้ทำนายพระลักษณะพระกุมาร มีพราหมณ์ ๗ คน ได้ทำนายลักษณะเป็น ๒ นัย๑
คือ
๑. ถ้าพระกุมารครองความเป็นฆราวาสต่อไป จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
๒. ถ้าพระกุมารเสด็จออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลก
แต่โกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่มได้ทำนายไว้เพียงข้อเดียวว่า พระกุมารจะต้องออกบรรพชา
และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แล้วพราหมณ์เหล่านั้นก็ขนานพระนามพระกุมารว่า
"สิทธัตถะ" แปลว่า ผู้มีความต้องการอะไรสำเร็จทุกอย่าง

๑ คู่มือการศึกษา นักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี, กรมการศาสนา, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. ๒๕๓๖ น. ๕๓


พระนางสิริมหามายาสวรรคต
พอประสูติได้ ๗ วันพระมารดาก็สวรรคต
พระเจ้าสุทโธทนะจึงมอบเจ้าชายสิทธัตถะให้อยู่ในความดูแลของพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านาง
ซึ่งเป็นพระชายาพระเจ้าสุทโธทนะเหมือนกัน แม้ในกาลต่อมาพระนางมีพระโอรสองค์หนึ่งคือเจ้าชายนันทะ
และราชธิดาอีกหนึ่งองค์คือเจ้าหญิงรูปนันทา
สมัยหนึ่งมีพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะพร้อมด้วยข้าราชบริพารได้เสด็จไปทำพิธีแรกนาขวัญ ณ
ทุ่งนาหลวง และได้เชิญเจ้าชายสิทธัตถะไปด้วยโดยจัดที่ประทับไว้ให้ใต้ต้นหว้าใหญ่
ขณะที่พระราชาเสด็จลงทำพิธีไถนาเป็นปฐมฤกษ์พร้อมด้วยอำมาตย์ข้าราชบริพาร พวกพระ พี่เลี้ยงก็ออกมาชมด้วย
ทิ้งเจ้าชายไว้ในม่านแต่พระองค์เดียว เมื่อเจ้าชายอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว
ได้ทรงเจริญภาวนาอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นได้ เวลานั้นเป็นเวลาบ่าย
เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลายได้คล้อยไปตามตะวันทั้งสิ้น
แต่เงาต้นหว้าที่ประทับปรากฏเป็นแนวตรงเหมือนเป็นเวลาเที่ยงวัน
ครั้นพระพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับไปเห็นเหตุการณ์เป็นที่ประหลาดใจจึงรีบกลับไปทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ
เมื่อพระราชาเสด็จกลับไปทอดพระเนตรก็ทรงรู้สึกอัศจรรย์พระทัยจึงได้ถวายอภิวาทพระกุมารเป็นครั้งที่ ๒


เจ้าชายสิทธัตถะศึกษาศิลปวิทยา
เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระขึ้นภายในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ คือ ปลูกอุบลบัวขาบ
ปลูกปทุมบัวหลวง ปลูกปุณฑริกบัวขาว
เพราะว่าพระเจ้าสุทโธทนะมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าชายสิทธัตถะครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ไม่ต้องการให้ออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าเลย จึงได้พยายามผูกมัดด้วยวิธีการต่าง ๆ
เพื่อให้เจ้าชายพอใจในราชสมบัติเท่านั้น
เมื่อทรงเห็นว่าเจ้าชายเจริญวัย ควรจะได้รับการศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว
จึงส่งไปศึกษาในสำนักครูวิศวามิตรเพื่อให้ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ วิชาที่ศึกษาเล่าเรียนก็มีวิชา ขี่ม้า
ฟันดาบ ยิงธนู เป็นต้น เจ้าชายสิทธัตถะมีความเฉลียวฉลาดสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
ในไม่ช้าก็สามารถเรียนเจนจบจากสำนักของครูวิศวามิตร จนครูไม่มีวิชาอะไรที่จะสอนอีกต่อไป

ทรงอภิเษกสมรส
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาทขึ้น ๓
หลังเพื่อเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ และสมควรจะอภิเษกสมรสได้แล้ว
พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้จัดให้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา
พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะกับพระนางอมิตาแห่งโกลิยวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นเบญจกัลยาณีผู้มีความงาม ๕ อย่าง
คือ
๑. เกสกลฺยาณํ ผมงาม
๒. ฉวิกลฺยาณํ ผิวงาม
๓. มํสกลฺยาณํ เนื้อริมฝีปากงาม
๔. อฏฺฐิกลฺยาณํ กระดูก (ฟัน) งาม
๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม (สวยไม่ส่าง)
แล้วก็ให้ประทับอยู่ในปราสาททั้ง ๓ ฤดูอย่างสุขสำราญ
พระเจ้าสุทโธทนะได้พยายามสร้างสิ่งอำนวยความสุขทางฆราวาสวิสัยอย่างเต็มที่ เช่น สร้างประสาท ๓ ฤดู
โดยให้มีการขับกล่อมประโคมดนตรีทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้ขับกล่อมดนตรีเป็นสตรีล้วน
และพยายามควบคุมให้เพลิด เพลินอยู่ในพระราชวังเพื่อมิให้ทรงเห็นความทุกข์ยากของประชาชนในภายนอก
แต่จะอย่างไรก็ตาม
วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะมีพระทัยจะเสด็จประพาสอุทยานจึงรับสั่งให้นายฉันนะมหาดเล็กจัดรถเทียมม้าขับเที่ย
วไปในอุทยาน ในขณะที่กำลังทรงเพลิดเพลินอยู่นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ที่เทวดาจำแลงมา คือ
เห็นคนแก่ชราที่มีหลังโกง เดินถือไม้เท้าไปในระหว่างทาง ก็ทรงแปลกพระทัยถึงกับตรัสถามฉันนะว่า
ชายผู้นี้ทำไมถึงมีรูปร่างผิดกับบุคคลทั่ว ๆ ไป
เมื่อทรงทราบว่าเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องชราแก่ไปด้วยกันทั้งนั้น
ก็บังเกิดความสังเวชสลดพระทัยเสด็จกลับพระราชวัง
วันต่อมา เมื่อเจ้าชายได้เสด็จประพาสอุทยานอีก ก็ทรงพบคนเจ็บและคนตายในวาระที่สองและที่สาม
ก็ทรงถามนายฉันนะเหมือนดังคราวก่อน เมื่อทรงทราบว่าเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องเจ็บ ต้องตาย
ก็ทรงสังเวชพระทัยเป็นทวีคูณ แต่ในวาระที่สี่ทรงเห็นบรรพชิตที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ มีกิริยาอาการสำรวม
น่าเคารพเลื่อมใสยิ่งนัก ก็ทรงถามนายฉันนะอีก เมื่อทรงทราบว่าเป็นบรรพชิต ผู้สงบ ไม่มีอันตราย
ทรงพอพระทัย ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะมีพระทัยผ่องแผ้วเบิกบาน จึงเสด็จเที่ยวอยู่ในอุทยานตลอดวัน
แต่ในวันนั้นเอง เจ้าหญิงพิมพาได้ประสูติพระโอรส พระเจ้าสุทโธทนะจึงให้มหาดเล็กไปทูลให้เจ้าชายทรงทราบ
พระองค์มีพระทัยน้อมไปในบรรพชาจึงออกพระโอษฐ์ว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ ห่วงบังเกิดขึ้นแล้ว
เครื่องผูกพันเกิดขึ้นแล้ว แล้วในตอนเย็นพระองค์ก็เสด็จกลับ พระราชวัง
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา
หลังจากวันที่เจ้าชายเสด็จไปพบเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงดำริก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้น
คือทรงดำริว่าสภาพทั้งหลายทั้งปวงโดยธรรมชาตินั้นต้องมีของแก้กันได้เสมอ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็นแก้
มีมืดก็มีสว่างแก้ มีทุกข์ก็ต้องมีสุขแก้ มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็ต้องมีเครื่องแก้ไม่ให้แก่ เจ็บ ตายได้
เจ้าชายทรงคำนึงว่า ถ้ายังอยู่ในเพศของฆราวาสวิสัยอยู่ก็ไม่อาจหาทางแก้ทุกข์ได้
เพราะฆราวาสวิสัยนี้คับแคบ และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง เพราะความรัก ความชัง ความหลง
เป็นที่มาของธุลี ส่วนการบรรพชานั้นเป็นช่องว่างพอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้ เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว
ทำให้มีพระทัยน้อมไปในการบรรพชามากยิ่งขึ้น
และในราตรีนั้นเอง ในขณะที่มีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก็ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา โดยยอมหนีพระนางพิมพา
พระโอรส
ราชสมบัติ ยศศักดิ์รัชทายาททั้งหลายทั้งปวง แล้วเสด็จหนีออกจากพระราชวัง โดยประทับม้าชื่อว่า

"กัณฐกะ" พร้อมด้วยมหาดเล็กฉันนะในยามราตรี เสด็จถึงชายฝั่งแม่น้ำอโนมานที (แขวงมัลละชนบท)
ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ และทรงเปลื้องเครื่องประดับต่าง ๆ
ออกแล้วสวมใส่ชุดนักบวชอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ต่อไป ครั้งแรก
พระโคดมได้ประทับอยู่ที่ป่ามะม่วงชื่อ อนุปิยอัมพวัน อยู่ถึง ๗ วัน
จากนั้นได้เสด็จผ่านแคว้นโกศลมุ่งตรงไปยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
เพื่อจะได้ศึกษาข้อปฏิบัติของเจ้าลัทธิทั้งหลาย พระองค์ได้พบพระเจ้าพิมพิสารพระราชาผู้ครองแคว้นมคธด้วย
พระเจ้าพิมพิสารได้ตรัสถามถึงสกุลวงศ์ที่ออกบวช แล้วตรัสเชิญให้พระองค์ครองราชสมบัติในแคว้นมคธด้วย
โดยจะแบ่งให้ปกครองแคว้นมคธกึ่งหนึ่ง พระโคดมทรงปฏิเสธโดยสุภาพ โดยตรัสว่า
พระองค์มุ่งแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ในการแสวงหาราชสมบัติอีกต่อไป
พระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้ทราบพระประสงค์เช่นนั้น ก็ได้ทรงอนุโมทนาและขอพรต่อพระองค์ให้ทรงรับปฏิญญาว่า
ถ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณขอให้มาเทศนาโปรดบ้าง พระองค์ก็ทรงรับคำขอร้องนั้น
ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ เมื่อได้ทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช
ตนเองมีความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ชักชวนเพื่อนพราหมณ์ที่เคยไปทำนายลักษณะเจ้าชายออกบวชตาม
บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่

เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา
หลังจากวันที่เจ้าชายเสด็จไปพบเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงดำริก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้น
คือทรงดำริว่าสภาพทั้งหลายทั้งปวงโดยธรรมชาตินั้นต้องมีของแก้กันได้เสมอ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็นแก้
มีมืดก็มีสว่างแก้ มีทุกข์ก็ต้องมีสุขแก้ มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็ต้องมีเครื่องแก้ไม่ให้แก่ เจ็บ ตายได้
เจ้าชายทรงคำนึงว่า ถ้ายังอยู่ในเพศของฆราวาสวิสัยอยู่ก็ไม่อาจหาทางแก้ทุกข์ได้
เพราะฆราวาสวิสัยนี้คับแคบ และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง เพราะความรัก ความชัง ความหลง
เป็นที่มาของธุลี ส่วนการบรรพชานั้นเป็นช่องว่างพอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้ เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว
ทำให้มีพระทัยน้อมไปในการบรรพชามากยิ่งขึ้น
และในราตรีนั้นเอง ในขณะที่มีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก็ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา โดยยอมหนีพระนางพิมพา
พระโอรส
ราชสมบัติ ยศศักดิ์รัชทายาททั้งหลายทั้งปวง แล้วเสด็จหนีออกจากพระราชวัง โดยประทับม้าชื่อว่า

"กัณฐกะ" พร้อมด้วยมหาดเล็กฉันนะในยามราตรี เสด็จถึงชายฝั่งแม่น้ำอโนมานที (แขวงมัลละชนบท)
ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ และทรงเปลื้องเครื่องประดับต่าง ๆ
ออกแล้วสวมใส่ชุดนักบวชอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ต่อไป ครั้งแรก
พระโคดมได้ประทับอยู่ที่ป่ามะม่วงชื่อ อนุปิยอัมพวัน อยู่ถึง ๗ วัน
จากนั้นได้เสด็จผ่านแคว้นโกศลมุ่งตรงไปยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
เพื่อจะได้ศึกษาข้อปฏิบัติของเจ้าลัทธิทั้งหลาย พระองค์ได้พบพระเจ้าพิมพิสารพระราชาผู้ครองแคว้นมคธด้วย
พระเจ้าพิมพิสารได้ตรัสถามถึงสกุลวงศ์ที่ออกบวช แล้วตรัสเชิญให้พระองค์ครองราชสมบัติในแคว้นมคธด้วย
โดยจะแบ่งให้ปกครองแคว้นมคธกึ่งหนึ่ง พระโคดมทรงปฏิเสธโดยสุภาพ โดยตรัสว่า
พระองค์มุ่งแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ในการแสวงหาราชสมบัติอีกต่อไป
พระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้ทราบพระประสงค์เช่นนั้น ก็ได้ทรงอนุโมทนาและขอพรต่อพระองค์ให้ทรงรับปฏิญญาว่า
ถ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณขอให้มาเทศนาโปรดบ้าง พระองค์ก็ทรงรับคำขอร้องนั้น
ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ เมื่อได้ทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช
ตนเองมีความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ชักชวนเพื่อนพราหมณ์ที่เคยไปทำนายลักษณะเจ้าชายออกบวชตาม
บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ และมีผู้บวชตามอยู่ ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
พราหมณ์ทั้ง ๕ คนนี้รวมเรียกว่า ปัญจวัคคีย์

เข้าศึกษาในสำนักของดาบส
หลังจากที่พระองค์ได้พบปะสนทนากับพระเจ้าพิมพิสารแล้วก็ได้เข้าไปศึกษายังสำนักของ อาฬารดาบส กาลามโคตร
ฝากพระองค์เป็นศิษย์ศึกษาจนสำเร็จตามหลักสูตรของอาจารย์ซึ่งก็ใช้เวลาในการศึกษาไม่นานเท่าไรนัก
พระองค์ก็สามารถศึกษาได้อย่างรวดเร็ว อาจารย์อาฬารดาบสก็หมดความรู้ที่จะสอนให้กับพระองค์
พระองค์ก็ได้สมาบัติ ๗ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน กับอรูปฌาน ๓ ได้แก่
อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ และ อากิญจัญญายตนะ
จากนั้น พระองค์พิจารณาเห็นว่า
ความรู้ที่ได้ศึกษาจากสำนักของอาฬารดาบสไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความเป็นพุทธะได้ จึงได้อำลาอาจารย์ไป
ต่อมา พระองค์ได้เข้าไปทดลองศึกษาในสำนักของดาบสอีกท่านหนึ่งมีนามว่า อุทกดาบส รามบุตร
และก็ได้รับความรู้ในอรูปฌานเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ซึ่งก็นับว่าเป็นความรู้ทางจิตที่สูงมากของอาจารย์
พระองค์ได้ศึกษาจนมีความชำนาญเท่าเทียมกับความรู้ของอาจารย์แล้ว แต่พระองค์ก็ไม่ทรงพอพระทัย
เพราะนั่นยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ทรงพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้
พระองค์จึงขอลาออกจากสำนักอุทกดาบสไปแสวงหาสัจจธรรมตามลำพังพระองค์เอง
เมื่อลาจากสำนักของอาจารย์ทั้งสองแล้ว พระองค์ก็เสด็จจาริกมุ่งตรงไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ทรงพิจารณาเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นสถานที่สงบ น่ารื่นรมย์ มีพื้นที่ราบเรียบ มีแนวป่าเขียวสด
มีน้ำใสไหลผ่าน มีที่สำหรับโคจรภิกษาอยู่โดยรอบ จึงทรงประทับเพื่อบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้นต่อไป
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ซึ่งพากันติดตามพระองค์มาหลายท้องที่หลายเมือง ก็ได้มาพบพระองค์ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
เห็นพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีต่าง ๆ อยู่ ก็คิดว่าพระองค์คงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นแน่แท้
จึงได้พากันเข้าไปช่วยปรนนิบัติรับใช้พระองค์

ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมนี้เอง
พระโคดมได้เริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยาซึ่งเป็นวิธีการนิยมทำกันอย่างมากของพวกดาบส ฤาษี ชีไพร ในสมัยนั้น
โดยคิดว่าจะเป็นหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ พระองค์ได้ตั้งพระทัยบำเพ็ญทุกรกิริยาแบบเอาชีวิตเข้าแลก
คือทรงใช้วิธีปฏิบัติ ๓ วิธี
วิธีแรก : กดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดาน) ด้วยพระชิวหา คือใช้ลิ้นดันเพดานไว้ให้แน่นจนพระเสโท
(เหงื่อ) ไหลออกจากพระกัจฉะ (รักแร้) จนเกิดความทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส
ก็ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
วิธีที่สอง : หลังจากทรงทดลองวิธีแรกแล้วไม่เป็นผล จึงทรงหันมาใช้วิธีแบบที่สอง คือ
ทรงกลั้นลมหายใจเข้าออก เมื่อลมเดินไม่สะดวกทางช่องพระนาสิก (จมูก) และพระโอษฐ์ไม่สะดวก
ก็เกิดเสียงอู้ทางช่องพระกรรณ (หู) ทำให้ปวดพระเศียร เสียดในพระอุทรร้อนไปทั่วพระวรกาย
ก็ยังไม่ได้บรรลุสัจธรรมที่ทรงประสงค์
วิธีที่สาม : ทรงใช้วิธีการอดอาหาร ผ่อนเสวยวันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารที่ละเอียดบ้าง
จนพระวรกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรมลง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏไปทั่วพระวรกาย
พระกำลังก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ แม้พระองค์จะทรงทรมานหนักหนาสาหัสถึงเพียงนั้น ก็ยังไม่พบคุณวิเศษใด ๆ
เลย
พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า การบำเพ็ญเพียรทางกายอย่างมากก็ทำได้เพียงแค่นี้ ไม่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว
ถึงทรมานร่างกายขนาดนั้นแล้วก็ยังไม่เห็นทางที่จะบรรลุและพ้นไปจากทุกข์ได้เลย
พระองค์ทรงหวนระลึกถึงการบำเพ็ญเพียรทางจิตว่าคงจะเป็นทางทำให้ตรัสรู้ได้ และทรงเทียบกับพิณ ๓ สาย
คือถ้าตึงเกินไป พอดีดก็จะขาดออกไป ถ้าขึงหย่อนเกินไป ดีดก็จะไม่เป็นเสียงเพลง แต่ถ้าขึงปานกลาง
ย่อมดีดฟังเสียงไพเราะเจริญใจ เมื่อเทียบกับการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ถ้าย่อหย่อนนัก
คือหมกมุ่นหนักไปในทางกามารมณ์จนเกินไปก็เป็นเสมือนพิณที่ขึงหย่อน ย่อมไม่สามารถออกจากทุกข์ได้
ถ้าหากปฏิบัติตึงเกิน เช่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาที่เคยปฏิบัติมานั้นก็เป็นเสมือนพิณที่ขึงตึงนักพอดีดก็ขาด
พระองค์ก็เช่นเดียวกันบำเพ็ญทุกรกิริยาลำบากเปล่า แทบจะขาดใจก็หาผลใด ๆ ไม่ได้
ฉะนั้นจึงควรเดินสายกลางไม่ตึงนักและหย่อนนัก ซึ่งเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
คงจะเป็นทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้
ฝ่ายพวกปัญจวัคคีย์พอเห็นพระองค์เลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยากลับมาเสวยอาหารเช่นเดิม
ก็คิดว่าพระองค์คลายจากความเพียรเวียนมาเพื่อความมักมากเสียแล้ว คงไม่อาจจะตรัสรู้ได้อย่างแน่นอน
พวกเราไม่อาจฝากความหวังไว้กับพระองค์ได้อีกต่อไป
ความหวังที่จะเห็นพระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าคงจะไร้ผล ถ้าพวกเรายังปฏิบัติพระองค์ต่อก็คงไม่ได้อะไร
ทั้งหมดจึงพร้อมใจกันหนีไปอยู่ยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนารถ
ไกลจากสถานที่พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยามาประมาณ ๒๐๐ ก.ม.) ใกล้เมืองพาราณสี
การที่พวกปัญจวัคคีย์หลีกหนีไปก็เป็นความดีแก่พระองค์อยู่เหมือนกัน
เพราะพระองค์สามารถบำเพ็ญเพียรทางจิตได้อย่างเต็มที่
ถ้ามีคนอยู่มากก็ก่อให้เกิดความพลุกพล่านก่อให้เกิดอันตรายต่อความสงบของพระองค์
ซึ่งนับเป็นโชคอย่างยิ่งอยู่เหมือนกัน
ในเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสพร้อมถาดจากนางสุชาดา
ซึ่งนางนำมาแก้บนที่ได้บุตรคนแรกเป็นชาย เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ก้อน
แล้วก็ทรงนำถาดทองใบนั้นไปลอยที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา โดยทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า
ถ้าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป
ถ้าจะไม่สำเร็จก็ขอให้ถาดนั้นลอยไปตามน้ำ ปรากฏว่าถาดนั้นได้ลอยไปทวนกระแสน้ำ
พระองค์เมื่อทรงเห็นเช่นนั้นก็ทรงมั่นพระทัยว่า
พระองค์จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยอย่างแน่นอน

ทรงบรรลุอมตธรรม
เมื่อพระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเรียบร้อยแล้ว ทรงดำริที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป
จึงทรงมุ่งตรงไปยังต้นมหาโพธิ์ตามที่ทรงกำหนดหมายไว้ ในระหว่างทางพระองค์ได้พบโสตถิยพราหมณ์ถือหญ้าคามา
๘ กำเดินสวนทางมา พอพราหมณ์นั้นมาพบพระองค์ก็เกิดความเลื่อมใสจึงน้อมหญ้าคาทั้ง ๘ กำเข้าไปถวาย
พระองค์ก็ทรงรับไว้แล้วเสด็จต่อไปยังต้นมหาโพธิ์ เมื่อเสด็จถึงต้นมหาโพธิ์แล้ว พระองค์ได้ทรงพิจารณาว่า
ทิศตะวันออกของต้นมหาโพธิ์เป็นสถานที่เหมาะจึงทรงลาดหญ้าคา ๘ กำปู ณ ที่นั้น
ทรงพอพระทัยในบรรลังก์หญ้านั้น ทรงนั่งขัดสมาธิ บนบรรลังก์หญ้านั้น หันพระพักตร์ไปในทิศตะวันออก
แล้วทรงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด
เราจักไม่ลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเนื้อเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที"
แล้วทรงกระทำจิตเข้าสู่สมาธิอย่างเข้มข้น
ทรงประมวลเอาพระบารมีที่ทรงสั่งสมมาหลายร้อยหลายพันชาติมาเป็นพระกำลัง จนสามารถเอาชนะธรรมฝ่ายต่ำได้
มีพระทัยที่แน่วแน่มากยิ่งขึ้นตามลำดับ และในราตรีนั้นเอง
พระองค์ก็ได้บรรลุญาณตามลำดับแห่งราตรีดังนี้คือ
๑. ยามแรก (เวลา ๑๘ - ๒๒ น.) ทรงบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
คือรู้และเข้าใจอดีตชาติหนหลังของพระองค์ได้อย่างแจ่มแจ้ง
๒. ยามที่สอง (เวลา ๒๒ - ๐๒ น.) ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ
คือทรงรู้และเข้าใจเหตุที่สัตว์โลกต้องเกิดและตายมีสภาพที่แตกต่างกัน
ทั้งรู้แจ้งการกำเนิดและเรื่องของชีวิต
๓. ยามที่สาม (เวลา ๐๒ - ๐๖ น.) ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ
คือความรู้ความเข้าใจความสิ้นไปของกิเลสอาสวะทั้งหลาย
คือทราบว่าการที่ขันธ์มาประชุมกันขึ้นเป็นตัวเราตัวเขานี้ ก็เพราะความโง่เขลา (อวิชชา) ความต้องการ
ความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด (ตัณหา) ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) และการกระทำของเรา (กรรม) นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเหตุและผลของกันและกัน เหมือนกับสายโซ่ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
ทำให้ถอนความหลงความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์เสียได้
และรู้ความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ไม่เคยได้ทรงทราบมาจากเจ้าลัทธิใดมาก่อน เรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ
คือ
๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก
๒. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์
๓. นิโรธ คือ วิธีที่จะทำให้ความทุกข์สิ้นไป
๔. มรรค คือ แนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ทรงดำริที่จะประกาศธรรม
เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงเสวยวิมุตติสุขตามสถานที่ร่มไม้ต่าง ๆ
มีร่มไม้อชปาลนิโครธ เป็นต้น รวมแล้วเป็นเวลา ๔๙ วัน (๗ สัปดาห์) พระองค์ได้ทรงดำริว่า
ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นเป็นพระธรรมที่ลึกซึ้ง
ยากที่คนธรรมดาจะรู้และเข้าใจปฏิบัติตามแบบพระองค์ได้ ทรงมีพระทัยท้อแท้ไม่คิดจะสอนผู้อื่นอีกต่อไป
เเต่เป็นเพราะพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณ ที่มีอยู่ในพระทัยของพระองค์ตลอดเวลา
ทรงพิจารณาเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลว่า สัตว์ทั้งหลายนั้นมีระดับสติปัญญาไม่เหมือนกัน
และทรงเปรียบหมู่สัตว์ทั้งหลายเหมือนกับดอกบัว ๔ ประเภท๑ คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู ได้แก่ บุคคลที่มีสติปัญญาดีเยี่ยม มีกิเลสเบาบาง สามารถสอนให้รู้ได้โดยง่าย
เปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นจากน้ำแล้ว พอได้สัมผัสแสงอาทิตย์ส่องก็จะบานในทันที
๒. วิปจิตัญญู ได้แก่ บุคคลที่มีสติปัญญาค่อนข้างดี เมื่อได้รับการอบรมจนมีอุปนิสัยแก่กล้า
ก็ย่อมจะสามารถรู้ตามได้ เปรียบเหมือน ดอกบัวที่เสมอน้ำ รอวันจะบานในวันพรุ่งนี้
๓. เนยยะ ได้แก่ บุคคลผู้มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรมโดยย่อและโดยพิศดารแล้ว
ยังไม่สามารถรู้ได้ในทันที เมื่อได้ฟังพร่ำสอนอยู่เสมอ ๆ จะสามารถบรรลุธรรมนั้นได้
เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ จักบานในวันถัดไป
๔. ปทปรมะ ได้แก่ บุคคลที่มีปัญญาอ่อน และไม่สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้
แม้จะได้รับการแนะนำทั้งโดยย่อและโดยพิศดารแล้วก็ตาม เปรียบเหมือนกับดอกบัวที่ยังอยู่ในโคลนตม
ซึ่งจะเป็นอาหารของปลาและเต่า ไม่อาจจะขึ้นพ้นน้ำได้เลย
หลังจากพระองค์ทรงเปรียบเทียบสัตว์โลกว่า
แต่ละคนนั้นมีระดับความรู้และการเรียนรู้ที่แตกต่างกันดังนี้แล้ว พระองค์จึงทรงดำริที่จะแสดงธรรม
ครั้งแรกทรงหวนระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งสองท่านนั้นมีระดับจิตที่สูง กิเลสที่เบาบาง
และอีกประการหนึ่งพระองค์ก็เคยไปฝากตัวเป็นศิษย์อยู่กับท่านทั้งสองนี้ด้วย แต่เมื่อทรงทราบด้วยพระญาณว่า
ท่านทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว
พระองค์จึงทรงพิจารณาหาบุคคลผู้ควรรับฟังพระธรรมเทศนาต่อไป ทรงเห็นว่า ปัญจวัคคีย์
เป็นนักบวชที่เคยอุปัฏฐากพระองค์มาก่อน ทั้งมีกิเลสเบาบาง ควรที่จะได้รับฟังพระธรรมเทศนา
แต่ขณะนี้ปัญจวัคคีย์ได้หลบหนีพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะไปแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์

๑ คู่มือการการศึกษา นักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี, เรื่องเดิม, น. ๕๙



แสดงปฐมเทศนา (The First Sermon)
พระองค์เสด็จดำเนินไปตามลำพัง เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฝ่ายพวกปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล
จึงพูดกันว่า "พระสมณโคดมคลายจากความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมาก คงไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษอะไร
นี่คงจะมาให้เราอุปัฏฐากอีกแล้ว"
เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้วจึงตรัสว่า เราได้บรรลุธรรมวิเศษโดยชอบแล้ว เราจะแสดงธรรมแก่พวกท่าน
ถ้าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามก็จะบรรลุคุณธรรมวิเศษนั้น พวกปัญจวัคคีย์แสดงอาการกระด้างกระเดื่องไม่เคารพ
กล่าวว่า อาวุโสโคดม ท่านประพฤติอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนั้น ยังไม่สามารถบรรลุคุณธรรมวิเศษได้
เมื่อท่านคลายจากความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมากอย่างนี้ ไหนเลยท่านจะบรรลุคุณธรรมวิเศษได้
พระองค์ทรงตรัสย้ำอีก พวกปัญจวัคคีย์คัดค้านอยู่อย่างนั้น ๒-๓ ครั้ง ท้ายที่สุดพระองค์ได้ตรัสว่า
"วาจาเช่นนี้ เราได้เคยพูดกับพวกเธอในกาลก่อนถึงบัดนี้หรือ" พวกปัญจวัคคีย์ฉุกคิดได้ว่า
วาจาเช่นนี้ พระองค์ไม่เคยตรัสเลย จึงเชื่อว่าพระองค์คงได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษจริง ๆ
จึงมีจิตอ่อนลงและพร้อมตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา
เมื่อพระองค์ทรงเตือนให้ปัญจวัคคีย์ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาได้แล้วจึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นกัณฑ์แรก
เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แก่ปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหปุณณมี คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี
เมื่อปัญจวัคคีย์ได้พิจารณาไตร่ตรองธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้ว
ท่านโกณฑัญญะซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสที่สุดได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) คือได้เห็นตามความเป็นจริงทุกประการ
นับว่าเป็นบุคคลแรกในโลกที่ได้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์
อันเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงพอพระทัยมากที่พระธรรมอันลึกซึ้งที่พระองค์ได้ตรัสรู้มานั้น
เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยที่คนจะรู้ตามได้ ท่านอัญญาโกณฑัญญญะเป็นพยานยืนยันได้เป็นอย่างดี
พระองค์ถึงกับเปล่งอุทานว่า "อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ.....อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ" แปลว่า
โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
และพระองค์ก็ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุโดยสมบูรณ์ โดยตรัสว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"
นับได้ว่าเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า
ในพรรษาแรก พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ในระหว่างพรรษานั้นพระองค์ก็ได้แสดงธรรมโปรดยสะกุลบุตรพร้อมกับสหายอีก ๔ คน คือ วิมละ, สุภาหุ, ปุณณชิ
และ ควัมปติ และสหายที่ไม่ปรากฏชื่ออีกจำนวนหนึ่งในเมืองพาราณสีรวม ๕๐ คน
จนได้บรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด รวมแล้วพรรษาแรกเท่านั้นพระองค์ได้สาวกเพิ่มเป็น ๖๐ องค์
รวมทั้ง พระองค์ด้วยก็เป็น ๖๑ องค์พอดี

งานประกาศศาสนา (Missionary Works)
เมื่อพระองค์มีพระอรหันตสาวกครบ ๖๐ องค์แล้ว และออกพรรษาแล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า
ควรจะออกไปประกาศหลักธรรม หลักคำสั่งสอน หลักศาสนา ของพระองค์ให้แพร่หลายได้แล้ว
พระองค์จึงเรียกประชุมสงฆ์สาวกทั้ง ๖๐ องค์มา
เพื่อประกาศหลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และได้ตรัสว่า "จรถ ภิกฺขเว
จาริกํ ฯเปฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่มหาชน
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก จงอย่าไปที่เดียวกันสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง
และในที่สุด ให้สมบูรณ์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง
แม้ตัวเราเองก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นเดียวกัน"
พระดำรัสที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าเป็นที่น่าประทับใจ ลึกซึ้งกินใจชาวพุทธยิ่งนัก
คือพระองค์ทั้งขอร้อง ทั้งบังคับ
ให้พระสงฆ์สาวกของพระองค์ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาพระธรรมคำสอนของพระองค์ให้ไปถึงประชาชนมากที่สุดเท่าที่
จะมากได้ พระพุทธศาสนานับได้ว่าเป็นศาสนาแรกของโลกที่มีการจัดระบบงานเผยแผ่ศาสนา (Missionary Works)
โดยส่งสาวกไปสอนศาสนาก่อนศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น
จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวพุทธทั่วโลกที่พระสาวกในพระพุทธศาสนาได้ทำงานแบบนี้มาเป็นเวลานานมาแล้ว


เทคนิควิธีในการเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้า
หลักการเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้า มีความแตกต่างจากศาสดาของศาสนาอื่น ๆ เป็นอย่างมาก
พระองค์จะทรงเน้นไปที่ผู้เป็นใหญ่หรือปัญญาชนในชุมชนนั้น ๆ เป็นหลัก
เพราะเมื่อสามารถสอนหัวหน้าของเขาให้กลับใจมานับถือได้แล้ว ย่อมจะสามารถดึงบริวารของเขามาได้โดยปริยาย
จึงทำให้พระพุทธศาสนาสามารถขยายไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จไปเผยแผ่ศาสนาแก่พวกชฎิล ๓
พี่น้อง แต่ผลก็ได้มากเกินคาด คือได้บริวารของพวกชฎิลเหล่านั้นมานับเป็น ๑,๐๐๐ คน มาเป็นสาวกของพระองค์
อีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นตัวอย่างได้ดีก็คือ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร
ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล
และพร้อมกันนั้นข้าราชบริพารเป็นจำนวนมากของพระองค์กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนา
แล้วได้ถวายวัดเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม และนับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาอีกด้วย
อีกตัวอย่าง ทรงแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกเศรษฐีจนเกิดมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้สร้างวัดเชตวันถวาย
มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก และพระองค์ก็จำพรรษาที่วัดเชตวันถึง ๑๙ พรรษา มากที่สุดกว่าที่ใด ๆ
ตัวอย่างสุดท้ายที่ยกมาให้เห็นอีกตัวอย่างก็คือ พระองค์แสดงธรรมโปรดนางวิสาขาธิดาของเศรษฐีในภัททิยนคร
นางวิสาขาได้บรรลุโสดาปัตติผล พร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมากหันมานับถือพระพุทธศาสนา
และมีศรัทธาได้สร้างวัดบุบผารามและโลหปราสาทให้เป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุสงฆ์
จากตัวอย่างข้างบนนี้ที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง
จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้นมีความแตกต่างจากศาสดาในศาสนาอื่น ๆ เป็นอย่างมากในการสอนศาสนิก
เพราะคำสั่งสอนหลักธรรมในศาสนาของพระพุทธองค์นั้นทนต่อการพิสูจน์ ไม่มีข้อบกพร่อง ทันสมัย
ใหม่อยู่เสมอหรือที่เรียกกันว่า อกาลิโก (Modernize) พระองค์จะเน้นไปที่ผู้เป็นใหญ่ในชุมชนนั้น ๆ
เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระองค์จะทรงละเลยคนชั้นปลายแถว
แต่เป็นเพราะว่าพระประสงค์ที่ต้องการให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ ไปได้อย่างรวดเร็วและตั้งมั่น
จึงเน้นไปที่ชนชั้นที่มีพลังในทางสังคมหรือชนชั้นปกครองเป็นหลัก

พุทธกิจที่ทรงกระทำตลอดพระชนม์ชีพ
พระพุทธเจ้าทรงประกอบไปด้วยพระมหากรุณาคุณอันยิ่ง พระองค์อุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกอย่างแท้จริง
ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาทรงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่พระองค์ทรงกระทำอยู่เป็นกิจวัตรนั้นก็คือ
๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ = เวลาเช้าทรงบิณฑบาตทุกวัน
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ = เวลาเย็นแสดงธรรมสั่งสอนประชาชน
๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ = เวลาค่ำประทานโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ = เวลาเที่ยงคืนตอบปัญหาเทวดา
๕. ปจฺจูเส ว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ = เวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูสัตว์โลกที่ควรจะบรรลุธรรม
แล้วเสด็จไปสั่งสอน

หัวใจคำสอนของพระพุทธศาสนา
หลังจากออกพรรษาแรกที่ตรัสรู้นั้นมีภิกษุสงฆ์ที่พระองค์ทรงบวชให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา มาเข้าเฝ้าจำนวน
,๒๕๐ รูปโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ คือตรัส
หัวใจพระพุทธศาสนาและวินัยเครื่องควบคุมคณะสงฆ์ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ = การไม่ทำบาปทุกอย่าง
กุสลสฺสูปสมฺปทา = การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ = การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธานสาสนํ = นี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ
อนูปวาโท = การไม่กล่าวร้าย
อนูปฆาโต = การไม่ทำร้าย
ปาติโมกฺเข จ สํวโร = ความสำรวจในปาติโมกข์
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ = รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ = ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัด
อธิจิตฺเต จ อาโยโค = การฝึกจิตให้สงบระงับ
เอตํ พุทฺธานสาสนํ = นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

หลักการสอนของพระพุทธเจ้า
๑. สันทัสสนา = อธิบายให้เห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่าง
๒. สมาทปนา = โน้มน้าวจิตใจให้ผู้ที่ถูกสอนมีใจที่จะทำตามโดยไม่ยาก
๓. สมุตเตชนา = ให้กำลังใจเพื่อให้เกิดความอุตสาหะในการที่จะทำ
๔. สัมปหังสนา = สอนให้เกิดความเพลิดเพลินไม่น่าเบื่อหน่าย
รายละเอียดปลีกย่อยในการสอนของพระองค์ก็ยังมีอีกมากมาย
ที่สำคัญคือพระองค์มีปรจิตตวิชานนะคือทรงรู้จิตรู้ใจของคนที่พระองค์จะสอนเป็นอย่างดี
ทรงรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ว่าคนชนิดไหนควรจะได้รับการสอนอย่างไร เป็นต้น
จะขอยกตัวอย่างการสอนของพระพุทธเจ้าให้ดูเป็นแบบก็คือ
สอนจากสิ่งที่รู้แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ : เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนสิงคาลมาณพในสิงคาล
สูตรที่เขากำลังไหว้ทิศทั้ง ๖ ตามที่บรรพบุรุษของเขาสั่งสอนมา โดยก็ไม่ทราบว่าไหว้ไปทำไม
แต่พระองค์ได้กลับใจเขา ทรงสอนให้เขาเข้าใจทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนา อย่างนี้เรียกว่า
สอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้
สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม : เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนพระนาง รูปนันทาเถรี
โดยพระองค์ทรงเนรมิตหญิงสาวสวยให้ถวายงานพัดใกล้ ๆ กับพระองค์ในเวลาที่ทรงแสดงธรรม
เพราะทรงรู้ว่าพระนางรูปนันทาเป็นผู้หนักในรูปคือเป็นพวกราคจริต
พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตให้หญิงนั้นเริ่มจากวัยรุ่น ---> ไปสู่วัยกลางคน ---> วัยชรา --->
และเสียชีวิตลงในที่สุด และทรงแสดงความไม่เที่ยงแห่งสังขารในวาระสุดท้าย คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
อย่างนี้เรียกว่า สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม
สอนโดยการใช้อุปกรณ์ : เช่น
พระพุทธเจ้าทรงสอนพระจูฬปันถกโดยทรงให้พระจูฬปันถกใช้ฝ่ามือลูบคลำชิ้นท่อนผ้า โดยให้บริกรรมว่า รโชหรณํ
รโชหรณํ ไปเรื่อย ๆ เมื่อใช้เวลานานเข้า ชิ้นท่อนผ้าก็เก่าเศร้าหมองเกิดขึ้น พระจูฬปันถกก็ได้คิดว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง และในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่า
การสอนโดยใช้อุปกรณ์ประกอบการสอน
สอนให้เกิดความคิดขึ้นมา : เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนนางกิสาโคตมี คือนางกิสาโคตมี
ได้อุ้มลูกน้อยซึ่งตายแล้วไปเที่ยวขอยาตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจะเอามารักษาลูกของนางให้ฟื้นคืนชีพ
คนทั้งหลายเริ่มเข้าใจว่านางคงจะเป็นบ้าไปเสียแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่คิดจะช่วยนาง
บอกว่าให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์อาจมียารักษาลูกของนางให้หายได้ นางดีใจมากเมื่อได้ยินอย่างนี้
เมื่อนางได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า มี.....มียาพอที่จะรักษาลูกของนางให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้
แต่มีข้อแม้อยู่เพียงข้อเดียวคือต้องไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาจากบ้านของคนที่ยังไม่เคยมีใครตายเลย
นางกิสาโคตมี ดีใจมากรีบอุ้มลูกน้อยไปเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ บ้านแล้วบ้านเล่า
ไม่มีสักบ้านเดียวที่ไม่เคยมีคนตาย จึงเกิดความท้อแท้ใจ จากนั้น
นางเริ่มจะคิดได้และปลงตกกับความจริงของธรรมชาติชีวิตว่า สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และดับสลายไปในที่สุด ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยสูญเสียสิ่งที่ตนเองรัก สิ่งที่ตนเองชอบใจ
จากนั้นนางไม่มีความคิดที่จะหายามารักษาลูกของนางอีกต่อไป
เดินมุ่งหน้ากลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าและขอบวชเป็นภิกษุณีและได้บรรลุพระอรหันต์ในที่สุด
วิธีการสอนอย่างนี้ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า การสอนให้เกิดความคิดขึ้นมาเอง

หลักการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า
แต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนมากมาขอเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาที่หลากหลายกับพระองค์
พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการตอบปัญหาอยู่ ๔ อย่าง คือ
๑. เอกังสพยากรณ์ ทรงตอบไปโดยส่วนเดียว เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๒. วิภัชพยากรณ์ ทรงแยกตอบไปตามลักษณะของเรื่องนั้น ๆ เช่น ถ้ามีคนถามปัญหาว่า
"ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่" จะทรงตอบจำแนกไปตามเหตุและผล คือ เมื่อเหตุให้เกิดมีอยู่
การเกิดก็ต้องมี เมื่อเหตุของการเกิดไม่มี การเกิดก็ไม่มี
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ทรงถามย้อนกลับโดยเอาคำถามที่ถามมา ย้อนถามไปอีกครั้งหนึ่ง
แล้วก็จะได้คำตอบเองเหมือนหลักของตรรกวิทยา เช่น ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร แสดงความคิดเห็นของตนว่า
"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" พระองค์ตรัสตอบว่า
"ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน
ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้นด้วย"
๔. ฐปนียะ ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องไร้สาระ ตรัสออกไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ผู้ฟัง
ถ้ามีคนถามปัญหาอย่างนี้ พระองค์ก็จะไม่ได้รับคำตอบ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าพระองค์ไม่รู้
พระองค์ทรงรู้ทรงเป็นสัพพัญญู แต่เป็นปัญหาไร้สาระ ไม่เป็นไปเพื่อคลายความทุกข์ เช่น
มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่ามาลุงกยบุตรถามปัญหาทางอภิปรัชญากะพระองค์ว่า โลกนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมี
ที่สุดหรือไม่มีที่สุด เป็นต้น พระองค์จะไม่ทรงตอบปัญหาเช่นนั้น
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสทุกครั้ง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลัก ๔ ประการคือ
๑. เป็นเรื่องจริง
๒. เป็นธรรม
๓. มีประโยชน์
๔. เหมาะสมแก่กาล

พระพุทธศาสนากับหลักการสังคมสงเคราะห์
พระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สอนให้ทุกคนไม่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว
ให้ทำลายอหังการ และมมังการ ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้ามนุษย์ทุกคนถือว่านี่เรา นี่พวกของเรา
นั่นพวกของผู้อื่น มีมากขึ้นในตัวมนุษย์
ความเข้าใจความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็จะหมดไปในทันที จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉาน
สังคมก็จะมีแต่ความแห้งแล้งน้ำใจ ความเอื้ออาทรในเพื่อนร่วมโลกด้วยกันก็จะหมดไป
กลายเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบตัวใครตัวมันเป็นการแบ่งทวีป แบ่งประเทศ แบ่งภาค
แบ่งพวกไปในที่สุด
พระพุทธศาสนาได้วางหลักสังคมสงเคราะห์ให้มนุษย์ในสังคมได้ปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ
ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ เป็นเครื่องผูกมิตรไมตรี เป็นเครื่องสร้างมนุษยสัมพันธ์
และเป็นธรรมที่ชนะใจคนซึ่งก็ได้แก่
๑. ทาน คือการให้ช่วยเหลือคนยากจน คนที่ด้อยโอกาสในสังคม คนประสบภัย
และให้การบริจาคแก่มูลนิธิเพื่อการกุศลต่าง ๆ
๒. ปิยวาจา พูดจาอ่อนหวานไพเราะนุ่มนวล ทำให้ผู้ได้ยินแล้วประทับใจอยากสนทนาด้วย
๓. อัตถจริยา ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำตนให้เป็นกาฝากทางสังคมหรือขัดขวางความเจริญในสังคม
๔. สมานัตตตา วางตนเสมอต้นเสมอปลาย เหมาะสม ไม่ถือตัว ไม่หยิ่งยโส

พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ
โดยหลักกว้าง ๆ แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักของความเชื่อไว้ ๑๐ อย่าง
และตัวอย่างที่พระองค์ทรงแสดงแก่ชาวกาลามะในสมัยโน้นยังเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจนมาถึงปัจจุบัน
คือพระองค์ให้ชาวกาลามะพิจารณาให้ดีรอบคอบเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ
โดยครั้งนั้นชาวกาลามะสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อคำสั่งสอนของสมณพราหมณ์เหล่าใดดี
เพราะต่างฝ่ายก็กล่าวว่าหลักธรรมของตนถูกต้อง โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา พวกชาวกาลามะจึงเข้าไปเฝ้าและทูลถามว่า ควรจะเชื่อหลักธรรมคำสอนของใครดี
พระองค์จึงได้วางหลักการจะเชื่อให้แก่ชาวกาลามะ และเป็นแบบอย่างของชาวพุทธมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้
หลักของการเชื่อ๑ มีดังนี้
- อย่ายึดถือ โดยการฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)
- อย่ายึดถือ โดยการถือสืบ ๆ กันมา (ปรัมปรา)
- อย่ายึดถือ โดยเล่าลือ (อิติกิรา)
- อย่ายึดถือ โดยการอ้างตำรา (ปิฎกสัมปทาน)
- อย่ายึดถือ โดยตรรก (ตักกะ)
- อย่ายึดถือ โดยการอนุมาน (นยะ)
- อย่ายึดถือ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)
- อย่ายึดถือ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)
- อย่ายึดถือ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)
- อย่ายึดถือ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณ โน ครูติ)
ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ทรงสอนว่า การจะเชื่ออะไรลงไป ไม่ควรเชื่ออย่างงมงาย
ควรเชื่ออย่างมีเหตุผล คือเชื่อด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาไว้ในที่ใด
ก็สอนเรื่องปัญญากำกับไว้ในที่นั้นด้วย พระพุทธศาสนาไม่นิยมการล่อลวงให้เชื่อ หรือบีบบังคับให้เชื่อ
ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันถ่องแท้เสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ จะทำให้ไม่ผิดพลาดในภายหลัง

๑ พุทธธรรม, พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), พ. ศ. ๒๕๓๘ น. ๖๕๑



หลักความเชื่อขั้นสูง ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา
๑. กมฺมสทฺธา เชื่อกรรม คือทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อข่าวโคมลอย พวกทำเสน่ห์ยาแฝด
พวกเข้าเจ้าเข้าทรง ไม่เชื่อเรื่องหมอดู ลายเส้นบนฝ่ามือหรือดวงดาวบนท้องฟ้า
๒. วิปากสทฺธา เชื่อผลของการกระทำทุกอย่างทั้งการทำดีและทำชั่ว
บุคคลย่อมจะได้รับอานิสงส์ของการกระทำนั้น ๆ ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือบ่ายเบี่ยงได้
๓. กมฺมสฺสกตาสทฺธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเอง ไม่มีพระเจ้าหรือใครเป็นผู้บันดาลสร้างให้เป็นไป
แต่เป็นไปตามกำลังกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้
๔. ตถาคตโพธิสทฺธา เชื่อในความตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าว่า พระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบด้วยพระองค์เอง

พระพุทธศาสนากับหลักการครองเรือน
พระพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าต้องให้ทุกคนเข้ามาบวชแล้วปฏิบัติเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นเพียงอย่างเดี
ยว แต่ว่าผู้ใดยังไม่มีความพร้อมในการเข้ามาบวชปฏิบัติได้
คือปรารถนาจะอยู่การครองเรือนสมัครใช้ชีวิตแบบฆราวาสวิสัยก็มีธรรมะเครื่องปฏิบัติ
พอเหมาะสมแก่ความเป็นอยู่ของผู้นั้นได้ เช่น หลักธรรมในฆราวาสธรรม
เป็นธรรมที่สำคัญมากสำหรับผู้ครองเรือน ขาดข้อใด ข้อหนึ่งก็ไม่ได้
เพราะถ้าขาดแล้วก็จะทำให้ชีวิตการครองเรือนล้มสลายไปในทันที พระพุทธเจ้าตรัสไว้มี ๔ ข้อ คือ
๑. สัจจะ คือความจริงใจ ผู้ครองเรือนต้องมีความจริงใจต่อกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๒. ทมะ คือความข่มใจ คือรู้จักห้ามใจตนเอง
๓. ขันติ คือความอดทนทั้งทางกาย และทางใจ
๔. จาคะ คือความเสียสละ เผื่อแผ่ ไม่ใจแคบ รวมไปถึงการสละอารมณ์ที่ไม่ดีไม่งามออกไปด้วย
พระพุทธเจ้ายังตรัสเพิ่มเติมถึงธรรมะที่ทำให้ผู้ครองเรือนมีความสุขอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์
๒. ความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์นั้นตามสมควร
๓. ความสุขที่เกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้
๔. ความสุขที่เกิดจากการประกอบกิจการงานที่ปราศจากโทษ
เราจะเห็นได้ว่าคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่คำสอนที่มุ่งจะขนสัตว์ทุกคนไปนิพพานเสียทั้งหมด
แต่ก็มีคำสอนขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง เหมาะแก่คนทุกระดับชั้นไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติ

พระพุทธศาสนากับเรื่องกรรม
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เชื่อเรื่องของกรรม ไม่ให้เชื่อโชคลาง เชื่อดวงดาว เชื่อลายเส้นบนฝ่ามือ
เชื่อไสยศาสตร์ เชื่อข่าวลือ ให้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ว่าสัตว์ทำกรรมดีย่อมได้ดี
สัตว์ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว ดังพุทธภาษิตว่า
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ.๑
"บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำกรรมดี ย่อมได้ดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว"
ปลูกมะเขือ ก็ย่อมได้ผลเป็นมะเขือ ปลูกมะละกอ ก็ย่อมได้ผลเป็นมะละกอ ปลูกมะม่วงจะได้ผลเป็นทุเรียน
เป็นพริก ย่อมเป็นไปไม่ได้ กรรมเท่านั้นเป็นตัวจำแนก เป็นตัวปันผลให้กับมนุษย์และสัตว์
ไม่ใช่พระเจ้าหรือพระพรหมหรือพลังอำนาจภายนอกแต่อย่างใด กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย
กรรมเป็นตัวจัดสรรคนที่ทำชั่วให้ชั่วโฉด และจัดสรรคนที่ทำดีให้เฉิดฉาย พลังของกรรมเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่
ไม่มีพลังอะไรที่จะมาอยู่เหนือพลังของกรรม
ในจูฬกัมมวิภังคสูตร๒ พระพุทธเจ้าได้ตรัสผลของกรรมหรือการกระทำไว้ ๗ คู่ไว้ด้วยกันคือ
๑. ผู้ที่เกิดมามีอายุน้อย --> เพราะมักเป็นคนฆ่าสัตว์
ผู้ที่เกิดมามีอายุยืน --> เพราะไม่ฆ่าสัตว์
๒. ผู้มีโรคมาก --> เพราะเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์
ผู้มีโรคน้อย --> เพราะไม่ค่อยได้เบียดเบียนสัตว์
๓. ผู้มีรูปร่างขี้เหร่ ผิวพรรณทราม --> เพราะมักเป็นคนขี้โกรธเคียดแค้น พยาบาท
ผู้มีความงาม ผิวพรรณดี --> เพราะมักเป็นคนมักไม่โกรธเคียดแค้น พยาบาท
๔. ผู้มียศศักดิ์ต่ำ --> เพราะมักอิจฉาริษยาคนอื่น
ผู้มียศศักดิ์สูง --> เพราะไม่มีจิตอิจฉาริษยาใคร
๕. ผู้เกิดมายากจน --> เพราะไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน
ผู้เกิดมามั่งมี --> เพราะจักเอื้อเฟื้อเจือจาน
๖. ผู้เกิดในตระกูลต่ำ --> เพราะเป็นคนกระด้างถือตัว ไม่รู้จักอ่อนน้อม
ผู้เกิดในตระกูลสูง --> เพราะไม่เป็นคนกระด้างถือตัว รู้จักอ่อนน้อม
๗. ผู้ที่เกิดมามีปัญญาทราม --> เพราะไม่ไต่ถาม ไม่แสวงหาความรู้
ผู้ที่เกิดมามีปัญญามาก --> เพราะรู้จักไต่ถาม แสวงหาความรู้

๑ พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี, เล่มที่ ๑๕, สุตฺต. สํ. สคาถวคฺโค, น. ๓๓๓
๒ พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน, สุชีพ ปุญญานุภาพ, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระนคร, พ.ศ. ๒๕๒๕ น. ๔๗๕


พระพุทธศาสนากับสตรี
ต้องยอมรับว่า สถานภาพของสตรีเพศในสมัยพุทธกาลหรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงถูกกดขี่ทางเพศ
อยู่ในฐานะเหมือนกับเป็นทาสของบุรุษ สังคมไม่ยอมรับความสามารถของสตรีหาเสรีภาพความเสมอภาพไม่เจอ
พระพุทธเจ้านับเป็นศาสดาองค์แรกที่ทรงประทานเสรีภาพความเสมอภาพให้แก่สตรี
ตลอดจนประทานให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ เพราะทรงเห็นว่าสตรีนั้นมีความสามารถไม่น้อยไปกว่าบุรุษเลย
พระพุทธเจ้าทรงยอมรับให้สตรีได้บวชในพระพุทธศาสนาได้
ซึ่งในสมัยนั้นผู้หญิงเป็นที่ดูถูกดูแคลนของสังคมยุคนั้น
ในกรณีที่ว่าผู้หญิงไม่ควรได้รับการอุปสมบทและไม่อาจจะบรรลุธรรมได้
พระพุทธศาสนายกย่องสถานภาพของสตรี (ภริยา ปรมา สขา) ภรรยาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของสามี
สามีไม่ควรปฏิบัติต่อเธอเยี่ยงทาสในครัวเรือน
จะเห็นได้ว่าในหลักของคิหิปฏิบัติพระพุทธเจ้าทรงยกย่องฐานะของสตรีไว้ ๕ ประเภท
ซึ่งสามีจะต้องปฏิบัติต่อเธอก็คือ
๑. ด้วยการยกย่องนับถือว่าภรรยาอย่างแท้จริง
๒. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามหรือทำให้ภรรยาเสียใจสะเทือนใจ
๓. ทะนุถนอมน้ำใจภรรยารักใคร่ไม่จืดจาง
๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยารับผิดชอบการเรือนอย่างเต็มที่
๕. มอบของขวัญเครื่องประดับอาภรณ์บ้างในโอกาสอันสำคัญ
พระพุทธศาสนายกย่องสตรีทุกคนไว้ในฐานะดุจเพศแม่ บุรุษจะต้องให้ความเคารพรักสตรีเช่นกับแม่ของตน
ในสมัยพุทธกาล บุรุษเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาบำเพ็ญตนจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปฉันใด สตรีก็เหมือนกัน
เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาสามารถบำเพ็ญตนจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ก็ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปฉันนั้น

ภิกษุณีบริษัท
ปฐมเหตุของการเกิดภิกษุณีนั้น เกิดจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยสากิยานีประมาณ ๕๐๐ นาง
ตัดสินใจโกนผมนุ่งห่มผ้ากาสายะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองเวสาลี ด้วยความอุตสาหะสูงมาก
คือไม่สวมรองเท้าและไปด้วยยาน พระเถระอานนท์เป็นผู้อาสาขอประทานอนุญาตให้สตรีบวช
พระอานนท์ได้กราบทูลด้วยเหตุผลด้วยประการต่าง ๆ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงประทานให้สตรีได้บวชได้โดยง่าย
เป็นเพราะทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะให้สตรีทั้งหลายทราบว่า เพศบรรพชาของพวกตน ได้มาโดยยากยิ่ง
จะได้สำนึกถึงคุณค่าที่ตนจะต้องรักษาไว้ให้ยืนยาวสืบต่อไปนั้นเอง
เมื่อทรงประทานอนุญาต ได้ทรงกำหนดให้ภิกษุณีต้องประพฤติครุธรรม ๘ ประการไม่ให้ขาดตกบกพร่อง กล่าวคือ
๑. ภิกษุณีแม้อุปสมบทตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องแสดงคารวะต่อภิกษุแม้อุปสมบทในวันนั้น
๒. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุอยู่
๓. ภิกษุณีจะต้องถามอุโบสถและฟังโอวาทของภิกษุสงฆ์ทุกครึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
๕. ภิกษุณีต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วต้องประพฤติมานัตปักข์หนึ่งในสงฆ์สองฝ่าย
๖. ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่าย
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม
๘. ภิกษุณีไม่พึงสอนภิกษุ ให้เปิดโอกาสให้ภิกษุสอนตน

การเข้าถึงพระพุทธศาสนา ๓ ประการ
๑. ปริยัติธรรม ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกให้เข้าใจ
เพื่อจะนำไปใช้การปฏิบัติ
๒. ปฏิปัตติธรรม ได้แก่ การปฏิบัติธรรมตามที่ได้ศึกษามาจากปริยัติแล้วมี ๓ อย่าง คือ ปฏิบัติด้วยศีล
สมาธิ และปัญญา
๓. ปฏิเวธธรรม ได้แก่ ผลที่เกิดจากการศึกษาปริยัติ และปฏิบัติที่ถูกต้อง คือนวโลกุตตรธรรม ๙ ได้แก่ มรรค
๔ ผล ๔ นิพพาน ๑


คำสอนของพระพุทธเจ้า
ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
พระองค์แทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลย เรียกได้ว่าชีวิตของพระพุทธเจ้าเป็นอยู่เพื่อชาวโลกเพื่อ
ช่วยเหลือสัตว์โลกอย่างแท้จริง พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้รอดพ้นจากทุกข์ด้วยความหมดจดจากกิเลส
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อรวมทั้งสิ้นก็ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หรือที่เรารู้เรียกกันว่า
พระไตรปิฎก ซึ่งก็แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎกด้วยกันคือ
๑. พระวินัยปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๒. พระสุตตันตปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๓. พระอภิธรรมปิฎก มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระวินัยปิฎก
พระวินัยปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องระเบียบ หรือกฎข้อบังคับ
วางหลักให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเปรียบเหมือนกับดอกไม้ที่เขานำมาร้อยเอาไว้
มิให้กระจัด กระจาย ผู้ที่มิได้ประพฤติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับหรือล่วงละเมิดก็ย่อมถูกลงโทษตามสมควร
พระวินัยปิฎกนี้ มีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๕ คัมภีร์ด้วยกัน คัมภีร์ทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อ
เพื่อให้จำง่าย ๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งชื่อว่า อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. ได้แก่
๑. อาทิกัมมิกะ (มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า มหาวิภังค์ ) ว่าด้วยข้อห้ามหรือวินัย ที่เป็นหลักใหญ่ ๆ
ของภิกษุ
๒. ปาจิตตีย์ (มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ภิกขุนีวิภังค์ ) ว่าด้วยข้อห้ามหรือวินัยของนางภิกษุณี
๓. มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนแรก และพิธีกรรมทางพระวินัย
๔. จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยและความเป็นมาของนางภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕. บริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย
พระวินัยปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือกฎข้อบังคับ
พระพุทธเจ้าทรงวางหลักให้ภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติเพื่อความสวยงามของหมู่คณะ
ผู้ที่ฝ่าฝืนประพฤติผิดตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับของพระวินัย
หรือล่วงละเมิดก็ย่อมถูกลงโทษตามสมควรแก่โทษานุโทษ
พระวินัยปิฎกนั้นพระองค์ทรงบัญญัติขึ้นก็ด้วยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการคือ
๑. สงฺฆสุฏฺฐุตาย เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. สงฺฆผาสุตาย เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์
๓. ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย เพื่อข่มบุคคลผู้ไม่รู้จักอาย
๔. เปสลานํ ภิกขูนํ ผาสุวิหาราย เพื่อความอยู่อย่างผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕. ทิฏฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย เพื่อปิดกั้นเรื่องเสื่อมเสียไม่ให้เกิดในปัจจุบัน
๖. สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย เพื่อป้องกันเรื่องเสื่อมเสียมิให้เกิดขึ้นในอนาคต
๗. อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. ปสนฺนานํ ภิยฺโย ภาวาย เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
๙. สทฺธมฺมฏฺฐิติยา เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐. วินยานุคฺคหาย เพื่อความอนุเคราะห์แก่พระวินัย

พระสุตตันตปิฎก
พระสุตตันตปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสมมติสัจจะ อันเป็นความจริงส่วนหนึ่งสำหรับชาวโลก
เป็นธรรมที่ยกสัตว์บุคคลเข้ามาเป็นที่ตั้ง เพื่อสรรสร้างให้บังเกิดความประพฤติที่ดีงาม
อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเรียบร้อย มีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันปิฎกนี้ บางทีก็เรียกกันสั้น
ๆ ว่า พระสูตร ซึ่งจำแนกออกเป็น ๕ นิกาย๑ ด้วยกัน นิกายทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อเพื่อให้จำ กันง่าย ๆ
โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งว่า ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. ได้แก่
๑. ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาขนาดยาว
๒. มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาขนาดกลางไม่ยาวหรือสั้นเกินไป
๓. สังยุตตนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาอันประมวลธรรมะ หรือเรื่องราวไว้เป็นพวก ๆ
เช่นว่าด้วยพระมหากัสสปะ เรียกว่า กัสสปสังยุต ว่าด้วยเหตุการณ์เรื่องราวในแคว้นโกศล เรียกว่า
โกสลสังยุต ว่าด้วยมรรค (ข้อปฏิบัติ) เรียกว่า มัคคสังยุต
๔. อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาเป็นข้อ ๆ ตามลำดับจำนวน เช่น ธรรมะหมวด ๑, ธรรมะหมวด
, ธรรมะหมวด ๓ แต่ละข้อก็มีจำนวน ๑, ๒ หรือ ๓ ตามหมวดนั้น ๆ
๕. ขุททกนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิตของพระสาวก, ประวัติต่าง ๆ และชาดก



พระอภิธรรมปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก เป็นธรรมที่แสดงปรมัตถสัจจะ ปฏิเสธสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็น
เนื้อความที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีการแปรปรวนกลับกลอก ไม่ว่าเวลาไหนหรือที่ใด
พระอภิธรรมปิฎกว่าด้วยเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นความจริง
เมื่อรู้แล้วทำให้เกิดปัญญาสามารถละกิเลสนำตนให้พ้นจากความทุกข์ได้ มีอยู่ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
หรือที่เรียกว่า อภิธรรม ๗ คัมภีร์ คัมภีร์ทั้ง ๗ นี้ มีชื่อให้เรียกสำหรับให้จำง่าย ๆ ว่า สัง. วิ. ธา.
ปุ. กะ. ยะ. ปะ. ได้แก่
๑. สังคณี ว่าด้วยการรวบรวมหมู่ธรรมะ คือธรรมะแม้จะมีมากเท่าใด ก็อาจรวมหรือจัดเป็นประเภท ๆ
ได้เพียงไม่เกิน ๓ อย่าง
๒. วิภังค์ ว่าด้วยการแยกธรรมะออกเป็นข้อ ๆ เช่น เป็นขันธ์ ๕ เป็นต้น การแยกปรมัตถ
ธรรมออกเป็นส่วน ๆ
๓. ธาตุกถา ว่าด้วยเรื่องของธาตุแห่งปรมัตถธรรม
๔. บุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ บุคคล และปรมัตถ์
๕. กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม - คำตอบ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
๖. ยมก ว่าด้วยหลักธรรมเป็นคู่ ๆ
๗. มหาปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งสนับสนุน ๒๔ ประการ

๑ สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, เรื่องเดิม น. ๒๑



ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ
ถือได้ว่าเป็นปราชญ์คนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในวงการของพระพุทธศาสนาในยุครัตนโกสินทร์เท่าที่ชาวพุทธได้รู้จักม
า และถือได้ว่าอาจารย์สุชีพเป็นแบบอย่างชาวพุทธ ที่ดีเยี่ยม
เป็นผู้ที่ทำอุปการะคุณอันยิ่งใหญ่ต่อวงการของพระพุทธศาสนามากมายเหลือสุดจะคณานับ
ชีวิตของท่านเป็นอยู่เพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลทางพระพุทธศาสนา
อาจารย์สุชีพได้สรุปจุดเด่น ๆ ของพระพุทธศาสนาไว้มี ๔๕
ข้อเท่ากับจำนวนพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญจะขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้
คือ
๑. แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออก ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย
เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์
หากแต่อยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริง ๆ
๒. พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก
มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยอยู่จนทุกวันนี้
๓. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส
ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้รับใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน
คือไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง
๔. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ
เพราะเหตุแห่งชาติและวงศ์สกุล โดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม
ใครจะเกิดในสกุลสูงต่ำยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว
ก็ชื่อว่าเป็นคนดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้ามคือล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว
แม้จะเกิดในสกุลสูงก็นับได้ว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ
๕. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ
โดยงดเว้นวิธีฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ
๖. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้กล้าสู้หน้ากับความจริง
เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย ให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้
รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้
โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน ด้วยการแสดงธรรมที่ประพฤติปฏิบัติตามแล้วจะเป็นเทวดาในปัจจุบันชาติ
๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาด้านเศรษฐกิจ
สอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี และสอนให้แก้ที่ตัวเราเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว
เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย
แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิตก็หัดให้แผ่เมตตาในตนเองก่อนเพื่อจะได้เป็นพยานว่าเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด
คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
๘. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย
ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หรือสอนให้ถือคนอื่นเป็นใหญ่
หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่าอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า
คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา
และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้าก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้
๙. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องของสติปัญญาในการดำเนินชีวิต
ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง
ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล
๑๐. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้พึ่งตนเอง ในการประกอบคุณงามความดี
โดยการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิดแต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง
คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลัก เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม
อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมนับถือมากขึ้น
๑๑. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่กล้าปฏิเสธหลักตรรกศาสตร์
ซึ่งชาวโลกถือว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย โดยได้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่า แน่นอนกว่า
พร้อมทั้งให้เหตุผล อย่างชัดแจ้ง
๑๒. พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอน
ตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิชาวิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้น
๑๓. พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตนเอง ไม่ให้มัวคิดแต่พึ่งผู้อื่น
๑๔. พระพุทธศาสนาสอนให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่ทำความดีด้วยความโลภหรืออยากได้สิ่งตอบแทน
หรือทำด้วยความหลง คือไม่รู้ความจริง บางครั้งนึกว่าดีแต่กลายเป็นชั่ว
๑๕. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัวได้ดี
ต้องมีความพอใจและความขยันหมั่นเพียรเป็นหลัก
๑๖. พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
๑๗. พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีอิสรภาพทั้งภายนอกและภายใน
อิสรภาพภายในคือไม่เป็นทาสของกิเลส ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป
๑๘. พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร
และในขณะเดียวกันให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่กัน
๑๙. พระพุทธศาสนาสอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ให้คิดได้ดีอย่างลอย ๆ
โดยคอยพึ่งโชคชะตาหรืออำนาจลึกลับใด ๆ
๒๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อจะให้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเอง ไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ตราบใดยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง
๒๑. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน ต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอ
พอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์และความสุขมาให้
๒๒. พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ให้ใช้ปัญญากำกับอยู่เสมอ นอกจากนั้น
ยังสอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติและการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
๒๓. พระพุทธศาสนาสอนกว้างกว่าเทศบาลและรัฐบาล
คือเทศบาลปกครองท้องถิ่นรัฐบาลปกครองประเทศโดยสอนให้มีโลกบาลคือธรรมอันปกครองโลก ได้แก่ หิริ
ความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต
๒๔. พระพุทธศาสนาสอนให้มีสติปัญญาคู่กัน คือให้มีเฉลียวคู่กับฉลาด ไม่ใช่เฉลียวหรือฉลาดเพียงอย่างเดียว
จึงสอนให้มีสติสัมปชัญญะคู่กัน และถือว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก
๒๕. พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่น สอนให้เคารพในการศึกษา
ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดี และสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้
สอนว่าไม่ควรสรรเสริญการยึดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความเจริญก้าวหน้า
๒๖. พระพุทธศาสนาสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ เพื่อจะได้อยู่เป็นผาสุกในสังคม
๒๗. พระพุทธศาสนาสอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู
โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนนับถือศาสนาอื่น จึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้างขวาง
๒๘. พระพุทธศาสนาสอนมิให้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผล แต่สอนให้ลงมือทำ
เพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นโดยถูกทาง
๒๙. พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลก โดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า มีความไม่เที่ยงแท้ถาวร
ทนอยู่ไม่ได้และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดถือจะได้มีความปลอดโปร่งใจ
ไม่ยึดมั่นจนเกินไปซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ได้โดยง่าย
๓๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่หรือถือโลกเป็นใหญ่ พูดง่าย ๆ
คือไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นสำคัญ
๓๑. พระพุทธศาสนาสอนปรมัตถ์ คือประโยชน์อย่างยิ่ง คือให้รู้จักความจริงที่เป็นแก่น
ไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่าง ๆ เช่น ลาภ ยศ เป็นต้น
แต่ในการเกี่ยวข้องทางสังคมก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติทางกายและทางวาจาตามควร เช่น
เมื่อเข้าประชุมชนก็ให้ทำตนให้เข้ากับประชุมชนนั้น ๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามสมมติบัญญัติ
ไม่ใช่ถือว่าเมื่อไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากันไม่ได้ การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้
ก็เพราะถึงคราวรับรองสมมติบัญญัติก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ
ก็สอนใจมิให้ติดให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย
๓๒. พระพุทธศาสนาสอนธรรมตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูง แต่ละประเภทเหมาะแก่จริต
อัธยาศัยและความสามารถของแต่ละคน เหมือนให้อาหารแก่เด็กอ่อนแก่เด็กโต ตามความเหมาะสมฉะนั้น
๓๓. พระพุทธศาสนาสอนว่า ปัญญาเป็นเครื่องส่องทางแห่งชีวิตที่นับเป็นแสงสว่างในโลก และได้สอนต่อไปว่า
ปัญญานั้นทำให้เกิดได้ ไม่ใช่ปัญญาเกิดตามบุญตามกรรม การทำให้เกิดปัญญาคือการคิด การศึกษาสดับตรับฟัง
และลงมือปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญา
๓๔. พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักไปในเรื่องความกตัญญูรู้คุณผู้อื่น และกตเวทีตอบแทนคุณท่าน และสรรเสริญว่า
ใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดี และประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล
๓๕. พระพุทธศาสนาสอนให้ดับทุกข์ โดยให้รู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุและการดับความทุกข์ ได้แก่
ดับเหตุของทุกข์ รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับของทุกข์ด้วย
จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม
๓๖. พระพุทธศาสนามิได้สอนย่ำยีหรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้ว
ควรจะช่วยกันให้กำลังใจในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม
พระพุทธเจ้าเองก็เคยเล่าถึงเรื่องความผิดของพระองค์เองในสมัยเมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่
อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญถ้ารู้ว่าอะไรผิด อะไรชอบแล้ว
ต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
๓๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น จะเพราะชาติตระกูล
เพราะทรัพย์หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่เชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา
๓๘. พระพุทธศาสนาสอนว่า การคบเพื่อนที่ดีย่อมจะชวนกันไปในทางที่ดี พระอานนท์เสนอว่าเป็นกึ่งพรหมจรรย์
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นตัวพรหมจรรย์เลยทีเดียว แสดงว่ายกย่องกัลยาณมิตรมาก
๓๙. พระพุทธศาสนาสอนให้รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ
และให้รักษาทิฏฐิคือความเห็นมิให้ผิด ให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา
จึงเป็นข้อปฏิบัติเด่นที่สุดทางพระพุทธศาสนา
๔๐. พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรดี เพราะข้อปฏิบัติมีมากเหลือเกิน
ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย
วาจา และอื่น ๆ ในตัวด้วย
๔๑. พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลาง ระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อนกับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป
และสอนสายกลางระหว่างที่เห็นว่าเที่ยงกับระหว่างที่เห็นว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้
ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน
๔๒. พระพุทธศาสนาสอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่เป็นคนดื้อว่ายากสอนยาก
คนที่ฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น ย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ
๔๓. พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้น ๆ ให้สละสุขอันเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบูรณ์
ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม
๔๔. พระพุทธศาสนาสอนว่า เมื่อมีศีลย่อมเป็นอุปการะให้เกิดสมาธิได้เร็ว
เมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น
๔๕. พระพุทธศาสนาสอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือสอนไม่ให้ลืมตน ทะนงตนหรือขาดความระมัดระวัง
ท่านถือความประมาทเป็นทางแห่งความตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาททั่วกัน เป็นต้น๑

๑ คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา, สุชีพ บุญญานุภาพ, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย พระนคร


บทที่ ๓
๑. พุทธปรินิพพาน
๒. ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๓. บ่อเกิดของนิกายและหลักธรรมที่สำคัญ
๔. พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา
๕. พระเจ้ากนิษกะมหาราช
๖. บ่อเกิดของการสร้างพระพุทธรูป


พุทธปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะและประกาศอมตธรรมเป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษา มีผู้ปฏิบัติตาม
และบวชตามพระองค์จนได้บรรลุธรรมนับจำนวนไม่ถ้วน พระองค์ทรงเป็นนาถของโลกอย่างแท้จริง
ธรรมที่พระองค์แสดงแล้วบัญญัติแล้วเป็นสิ่งทนต่อการพิสูจน์ (อกาลิโก)
ไม่ว่าวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์จะเจริญก้าวหน้าไปขนาดไหนก็ตาม ไม่อาจจะลบล้างธรรมะของพระองค์ได้เลย
ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ พระพุทธเจ้าได้เสด็จจำพรรษาที่บ้านเวฬุวคาม
ประทับสำราญอิริยาบถที่สวนมะม่วงของนายจุนทะผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง เขตเมืองเวสาลี
นายจุนทะได้ทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จมาประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของตน
จึงเข้าไปกราบทูลอัญเชิญให้เสด็จรับภัตตาหารเช้าที่เรือนของตน
และได้ถวายภัตตาหารเช้าซึ่งเป็นอาหารมื้อพิเศษมีชื่อว่า "สูกรมัทวะ"
พระพุทธเจ้าทรงเสวยสูกรมัทวะนั้นเป็นการเสริมศรัทธา และทรงอนุโมทนาผลแห่งปัจฉิมทาน
จากนั้นทรงรับสั่งให้นายจุนทะนำอาหารไปทิ้งเสีย
จากนั้น พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ก็เสด็จกลับจากบ้านของนายจุนทะ ในระหว่างนี้เองพระองค์ทรงอาพาธหนัก
แต่ก็ทรงอดกลั้นด้วยอธิวาสนขันติ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะไม่ทุรนทุราย และเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินาราทั้ง ๆ
ที่ยังประชวรอยู่ ครั้นเสด็จไปถึงสาลวันสวนของเจ้ามัลละ ทรงประทับระหว่างต้นรังทั้งคู่
ตรัสสั่งให้พระอานนท์จัดที่ประทับถวาย พระองค์หันพระเศียรไปทาง ทิศเหนือเสด็จบรรทมอนุฏฐานไสยา
คือตั้งพระทัยที่จะไม่เสด็จลุกขึ้นอีก ขณะใกล้จะปรินิพพานนี้
พระองค์ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายที่เฝ้าแวดล้อมดูอาการประชวรของพระองค์อยู่
เป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า
"อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความสิ้นไปและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" และพระองค์ยังตรัสต่อไปอีกว่า "โย โว
อานนฺท ธมฺโม จ วินโย มยา เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. ดูก่อนอานนท์ พระธรรมและ
พระวินัยอันใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย พระธรรมและพระวินัยอันนั้น
จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว"
จากนั้น พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระชนมายุได้ ๘๐
พระพรรษา
วันเสด็จดับขันธปรินิพพานก็นับเป็นวันที่อัศจรรย์อีกวันหนึ่ง คือวันประสูติ ตรัสรู้
และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกันทั้งหมด
ทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ทำสักการะบูชาเพื่อระลึกถึงศาสดาของตนในวันนี้เป็นพิเศษ เรียกว่า
"วันวิสาขบูชา" ถือเป็นวันสำคัญของชาติหรือของโลกก็ว่าได้
แม้กระทั่งองค์การใหญ่แห่งสหประชาชาติก็ยังให้การยอมรับวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญนานาชาติด้วย
เพราะหลักการของพระพุทธศาสนานั้นเข้ากันได้กับหลักการขององค์การสหประชาชาติที่เชื่อกันว่าจะนำสันติภาพมา
สู่ชาวโลกได้อย่างแท้จริง
การที่องค์การสหประชาชาติยอมรับให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญนานาชาติก็สืบเนื่องมาจากการประชุมชาวพุทธนาน
าชาติที่ประเทศศรีลังกา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ (ค.ศ. 199
ประเทศศรีลังกานับเป็นประเทศที่ทำอุปการคุณอย่างใหญ่หลวงที่เป็นแกนนำทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับไป
สู่นานาชาติอย่างแท้จริง ประเทศที่ให้การยอมรับวันวิสาขะเป็นวันสำคัญนานาชาติในปี พ.ศ. ๒๕๔๓
จะขอนำมากล่าวยกย่องไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ก็คือประเทศ
1. Bangladesh
2. Bhutan
3. Cambodia
4. Chile
5. Cyprus
6. Grenada
7. Iceland
8. India
9. Indonesia
10. Ireland
11. Lao People's Democratic Republic
12. Maldives
13. Mongolia
14. Myanmar
15. Nepal
16. Pakistan
17. Philippines
18. Portugal
19. Republic of Korea
20. Russian
21. Ukraine
22. Scychelles
23. Slovakia
24. Spain
25. Sri Lanka
26. Thailand
ต้องนับเป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธทั้งโลกอย่างแท้จริง
ประเทศไทยก็ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ ๑ วัน
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนไปบำเพ็ญทานบำเพ็ญกุศลเจริญศีลภาวนาสร้างกุศลกระทำความดีเพื่อเป็นพุทธบูชา
และยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาที่ท้องสนามหลวงเป็นประจำติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปีแ
ล้ว นับเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่วันหนึ่งเลยทีเดียว ในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้านั้น
ได้ตั้งพระศพไว้ทำสักการะบูชาเป็นเวลา ๗ วัน และเพื่อรอคอยพระเถระที่เดินทางมาจากทิศต่าง ๆ
จึงได้ถวายพระเพลิงในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งชาวพุทธเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา"

เหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพาน
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้เพียง ๗ วัน
พระสาวกที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ทั้งหลายต่างก็มีความเศร้าโศกเสียใจ แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า
สุภัททะ กลับดีใจพูดว่า "พระพุทธเจ้านิพพานเสียแล้วก็ดี ต่อไปจะได้ไม่มีใครมาคอยกล่าวว่า
สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ" พระมหากัสสปะได้ฟังคำพูดนั้นเกิดความสลดใจว่า
"พระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่กี่วัน ยังมีผู้กล่าวถ้อยคำไม่ สมควรเช่นนี้ ถ้าไม่จัดการอะไรลงไป
ปล่อยไว้ให้เนิ่นนาน จะนำความเสื่อมเสียมาสู่พระพุทธศาสนา สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญ
สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมกำลัง พวกอธรรมวาทีจักเจริญ พวกธรรมวาทีจักเสื่อมถอย"
เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว จึงชักชวนภิกษุทั้งหลายทำสังคายนา

การสังคายนาครั้งที่ ๑
ปฐมสังคายนา : กระทำขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน
ประธานฝ่ายสงฆ์ : พระมหากัสสปเถระ
ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา : พระอรหันตขีณาสพจำนวน ๕๐๐ องค์
ประธานอุปถัมภ์ : พระเจ้าอชาตศัตรู
หัวข้อในการประชุม : เรื่อง "สุภัททวุฑฒบรรพชิตจ้วงจาบพระธรรมวินัย"
สถานที่ประชุมทำสังคายนา : ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์
ระยะเวลาในการประชุม : กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

พระปุราณะไม่รับรองการทำปฐมสังคายนาครั้งที่ ๑
หลังจากการทำสังคายนาผ่านไปไม่นานนัก มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า "ปุราณะ"๑
พร้อมด้วยบริวารประมาณ ๕๐๐ รูป อยู่จำพรรษาที่ทักขิณาคีรีชนบท ในคราวทำสังคายนาเมื่อท่านทราบว่า
สังคายนาทำเสร็จแล้ว ท่านและบริวารจึงได้เข้าสู่กรุงราชคฤห์
พระสังคีติกาจารย์ที่ร่วมในการทำสังคายนาได้เข้าไปแจ้งให้ท่านทราบว่า พระสงฆ์ได้ทำสังคายนากันแล้ว
ขอให้ท่านยอมรับด้วย
พระปุราณะกลับกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย
พระเถระทั้งหลายได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยก็ดีแล้ว
แต่ผมได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร จักถือปฏิบัติตามนั้น
เมื่อได้ชี้แจงกันพอสมควรแล้ว ปรากฏว่าพระปุราณะมีความเห็นตรงกับพระสังคีติกาจารย์ส่วนมาก
แต่มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องวัตถุ ๘ ประการ
ซึ่งเป็นพุทธานุญาตพิเศษที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำได้ในคราวเกิดทุพพิกภัย
แต่เมื่อภัยเหล่านั้นระงับก็ทรงบัญญัติห้ามมิให้กระทำอีก เรื่องวัตถุ ๘ ประการนั้นก็คือ
๑. อันโตวุฏฐะ เก็บของที่เป็นยาวกาลิกคืออาหารไว้ในที่อยู่ของตน
๒. อันโตปักกะ ให้มีการหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตน
๓. สามปักกะ พระลงมือหุงปรุงอาหารด้วยตนเอง
๔. อุคคหิตะ คือการหยิบเอาเองซึ่งเคี้ยวของฉันที่ยังมิได้ประเคน
๕. ตโตนีหตะ ของที่นำมาจากที่นิมนต์ ซึ่งเป็นพวกอาหาร
๖. ปุเรภัตตะ การฉันอาหารก่อนเวลาภัตตาหาร ในกรณีที่ตนรับนิมนต์ไว้ในที่อื่น
แต่ฉันอาหารอื่นก่อนอาหารที่ตนจะต้องฉันในที่นิมนต์
๗. วนัฏฐะ ของที่เกิดหรือตกอยู่ในป่า ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ
๘. โปกขรณัฏฐะ ของที่เกิดในสระ เช่น ดอกบัว เง่าบัว
วัตถุทั้ง ๘ ประการ เป็นพุทธานุญาตพิเศษในคราวเกิดทุพภิกขภัย ๒ คราว คือ
ที่เมืองเวสาลีและที่เมืองราชคฤห์ แต่เมื่อทุพภิกขภัยหายไปแล้ว ทรงห้ามมิให้ภิกษุกระทำ
พระปุราณะและบริวารของท่านคงจะได้ทราบเฉพาะเวลาที่ทรงอนุญาต จึงปฏิบัติไปอย่างนั้น
เนื่องจากการอยู่กันกระจัดกระจายคนละทิศละทาง การติดต่อบอกกล่าวอาจไม่ถึงกัน
จะถือว่าท่านดื้อรั้นเกินไปก็หามิได้ เพราะท่านถือตามที่ท่านได้สดับมาจากพระพุทธเจ้าเหมือนกัน
เมื่อพระสังคีติกาจารย์ชี้แจงให้ท่านฟัง ท่านปุราณะก็มีความเห็นว่า
"พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ ไม่สมควรที่จะบัญญัติห้ามแล้วอนุญาต
อนุญาตแล้วกลับบัญญัติห้ามมิใช่หรือ"
สรุปแล้ว ความแตกแยกในทางข้อปฏิบัติคือความเสียแห่งสีลสามัญญตา
ได้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาหลังจากพุทธปรินิพพานไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง
ความไม่เสมอภาคกันในแนวทางปฏิบัติอย่างน้อยได้แตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ
๑. พวกที่ยอมรับนับถือมติของพระสังคีติกาจารย์ ในการทำสังคายนาครั้งแรก
๒. พวกที่สนับสนุนคล้อยตามมติของพระปุราณะกับพวก อย่างน้อยฝ่ายนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ รูป
และในที่สุดอาจจะได้บริวารเพิ่มมาอีกก็เป็นได้

๑ พระโสภณคณาภรณ์, (ระแบบ ฐิตญาโณ), ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พ.ศ. ๒๕๒๘ น. ๑๓๐



การสังคายนาครั้งที่ ๒
ทุติยสังคายนา : กระทำขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พ. ศ. ๑๐๐
ประธานฝ่ายสงฆ์ : มีพระยสกากัณฑกบุตรเถระเป็นประธาน มีพระสัพพกามีเถระ และพระเรวตะ เป็นต้น
เข้าร่วมด้วย
ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา : พระอรหันตขีณาสพจำนวน ๗๐๐ องค์
ประธานอุปถัมภ์ : พระเจ้ากาฬาโศกราชเป็นองค์อุปถัมภ์
หัวข้อในการประชุม : เรื่อง "วัตถุ ๑๐ ประการ"
สถานที่ประชุมทำสังคายนา : กระทำขึ้นที่วาลิการาม เมืองเวสาลี
ระยะเวลาในการประชุม : กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ
การกระทำทุติยสังคายนาปรารภเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ
ที่ภิกษุชาวเมืองเวสาลีนำประพฤติปฏิบัติว่าไม่ผิดธรรมไม่ผิดวินัย ซึ่งมีใจความดังนี้
๑. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนงแล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : การเก็บเกลือไว้ในเขนง โดยตั้งใจว่าจะใส่ลงในอาหารฉันนั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์
เพราะเป็นการสะสมอาหารตามโภชนสิกขาบท)
๒. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง ๒ องคุลีก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ภิกษุฉันโภชนะในเวลาวิกาล เมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว ๒ องคุลี
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะในเวลาวิกาล)
๓. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ฉันเสร็จแล้วเข้าไปสู่บ้าน
จะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้วคิดว่าจักฉันอาหาร เข้าไปในบ้านแล้ว
ฉันโภชนะที่เป็นอนติริตตะ (ไม่เป็นเดน) ผิด เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้)
๔. ภิกษุชาววัชชี : ในอาวาสเดียวกันมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกทำอุโบสถได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้ ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในอุโบสถขันธกะ
ใครขืนทำต้องอาบัติทุกกฏ)
๕. ภิกษุชาววัชชี : ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถไปก่อนก็ได้
โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : สงฆ์ทำสังฆกรรมด้วยคิดว่า ให้พวกมาทีหลังอนุมัติ
ทั้งที่สงฆ์ยังประชุมไม่พร้อมหน้ากัน ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในจัมเปยยขันธกะ ต้องอาบัติทุกกฏ)
๖. ภิกษุชาววัชชี : การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม
ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : การประพฤติปฏิบัติ ด้วยเข้าใจว่าอุปัชฌาย์อาจารย์ของเราเคยประพฤติมาอย่างนี้
ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะท่านเหล่านั้นอาจประพฤติผิดหรือถูกก็ได้
ต้องยึดหลักพระวินัยจึงจะเป็นสิ่งสมควร)
๗. ภิกษุชาววัชชี : นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (เนยใส) ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้ว
จะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรมหรือทำให้เป็นเดนตามพระวินัยก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : นมส้มที่ละความเป็นนมสดไปแล้ว แต่ยังไม่กลายเป็นทธิ ภิกษุฉันภัตตาหารแล้ว
ห้ามภัตรแล้ว จะดื่มนมนั้นอันไม่เป็นเดนภิกษุไข้ หรือยังไม่ได้ทำวินัยกรรม ไม่ควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะฉันอาหารที่เป็นอนติริตตะ)
๘. ภิกษุชาววัชชี : สุราที่ทำใหม่ๆ ยังมีสีแดงเหมือนสีเท้านกพิราบ ยังไม่เป็นสุราเต็มที่
ภิกษุจะฉันก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : การดื่มสุราอย่างอ่อนที่มีสีเหมือนสีเท้านกพิราบ ซึ่งยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมา
ไม่ควร เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย)
๙. ภิกษุชาววัชชี : ผ้าปูนั่งนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภคใช้สอยก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชาย ภิกษุจะใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ซึ่งจะต้องตัดเสียจึงจะแสดงอาบัติตก)
๑๐. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุรับและยินดีในเงินทองที่เขาถวาย ไม่เป็นอาบัติ
(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า :
การรับเงินหรือยินดีซึ่งเงินและทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตนเองไม่สมควรเป็นอาบัตินิสัคคียปาจิตตีย์)
การสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ ทำขึ้นเพื่อระงับความแตกแยกทางการปฏิบัติสีลสามัญญตา (ความเสมอกันด้วยศีล)
คือพระชาววัชชีประพฤตินอกรีตนอกพระธรรมวินัย
และนับเป็นจุดเริ่มต้นส่อเค้าความแตกแยกในสังฆมณฑลเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ
ที่ตอนนั้นยังมีพระอรหันต์อยู่เป็นจำนวนมาก
แต่ผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเหมือนกัน
และยังเป็นฝ่ายที่ค่อนข้างมีพลังอีกด้วย จึงทำให้มีรอยด่างพร้อยเกิดขึ้นตามมา
แต่ในปกรณ์สันสกฤตกลับชี้ไปที่เรื่องความวิบัติแห่ง ทิฏฐิสามัญญตาแห่งคณะสงฆ์เป็นใหญ่ มีเรื่องเล่าว่า
วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พระมหาเทพเป็นผู้สวด ปาฏิโมกข์ แต่ท่านผู้นี้ได้เสนอทรรศนะ ๕
ประการต่อที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งมีใจความดังนี้
๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนจนอสุจิเคลื่อนในเวลาหลับได้
๒. พระอรหันต์อาจมีอัญญาณคือความไม่รู้ในบางสิ่งได้
๓. พระอรหันต์อาจมีกังขาคือความลังเลสงสัยในบางสิ่งได้
๔. ผู้จะรู้ว่าตนได้บรรลุมรรคผลชั้นใด จำต้องอาศัยการพยากรณ์จากคนอื่น
๕. อริยมรรคอริยผลจะปรากฏเมื่อบุคคลเปล่งวาจาว่า อโห ทุกฺขํ อโห ทุกฺขํ

การสังคายนาครั้งที่ ๓
ตติยสังคายนา : กระทำขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พ. ศ. ๒๑๘
ประธานฝ่ายสงฆ์ : พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน
ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา : พระอรหันตขีณาสพจำนวน ๑,๐๐๐ องค์
ประธานอุปถัมภ์ : พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมภ์
หัวข้อในการประชุม : เรื่อง "เดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา"
สถานที่ประชุมทำสังคายนา : อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร
ระยะเวลาในการประชุม : กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ
การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้
ก็ทำด้วยสาเหตุใหญ่คือมีพวกเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเมื่อถึงคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้ รอยร้าวในสังฆมณฑลเริ่มมีมากขึ้น
พระเถระในนิกายมหาสังฆิกะก็ไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย มีแต่ฝ่ายเถรวาทฝ่ายเดียว
ก็เหมือนการสังคายนาครั้งแรก
สาเหตุของการสังคายนาครั้งนี้ดังที่กล่าวแล้วว่ามีพวกเดียรถีร์เข้าปลอมบวชปะปนกับพระผู้บริสุทธิ์
พระสงฆ์ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเป็นเวลาถึง ๗ ปี ต่อมา ความทราบไปถึงพระเจ้าอโศกมหาราช
พระองค์ได้รับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งไปอาราธนาให้พระทำสังฆกรรมร่วมกัน เมื่อพระเหล่านั้นไม่ยินยอม
อำมาตย์จึงถือว่าพระสงฆ์ขัดพระบรมราชโองการ จึงตัดคอพระมรณภาพไปหลายองค์
พระติสสเถระซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าอโศกเห็นไม่ได้การจึงรีบเข้าไปขัดขวางไว้
พวกอำมาตย์จึงไม่กล้าฆ่าพระอนุชา
หลังจากนั้น พวกอำมาตย์จึงนำความไปกราบทูลให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบ พระเจ้าอโศกทรงตกพระทัยมาก
กลัวว่าบาปกรรมจะตกทอดมาถึงพระองค์ด้วย แม้ว่าอำมาตย์จะทำไปโดย พลการก็ตามที
จึงไปเรียนถามพระเถระทั้งหลายปรากฏว่าท่านเหล่านั้นตอบไม่ตรงกัน
ในที่สุดได้รับคำแนะนำให้ไปอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระให้มาวินิจฉัยให้
พระเถระได้ถวายวินิจฉัยข้อข้องพระทัยว่า เมื่อพระองค์ไม่มีความประสงค์จะให้อำมาตย์ไปฆ่าภิกษุ
บาปนั้นจึงไม่มีแก่พระองค์ และให้พระราชาทรงมั่นพระทัยในพระพุทธภาษิตว่า
"เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา๑ ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย
เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ"
หลังจากนั้น พระเจ้าอโศกทรงสบายพระทัยเพราะได้ฟังคำวินิจฉัยของพระเถระแล้ว
หลังจากนั้นพระเถระได้ให้พระเจ้าอโศกทรงศึกษาสัจจธรรมทางพระพุทธศาสนา
จนสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา และอะไรเป็นคำสอนของเจ้าลัทธินอกพระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาสอบถามด้วยพระองค์เองว่า กึ สมฺมาสมฺพุทฺโธ =
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปกติตรัสว่าอย่างไร ?
ถ้าพระรูปใดตอบว่า วิภชฺชวาที = มีปกติจำแนก ก็ถือว่าเป็นพระที่แท้จริง
ท่านที่ตอบเป็นอย่างอื่นถือว่าเป็นพวกเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวช
รับสั่งให้แจกผ้าขาวให้กับพวกเหล่านั้นให้สึกออกไปเสียเป็นจำนวนมาก ในสมันตปาสาทิกาบอกว่ามีถึง ๖๐,๐๐๐
รูป ข้อมูลค่อนข้างมากพอสมควร เมื่อชำระสังฆมณฑลให้หมดจดบริสุทธิ์ได้แล้ว
พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้อาราธนาให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมกันตามปกติ

๑ พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี เล่มที่ ๒๒ สุตฺต. องฺ. (๓) : ปญฺจก-ฉกฺกนิปาตา หน้า ๔๖๔


ข้อน่าฉงนในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓
การสังคายนาครั้งที่ ๓ เป็นการกระทำของฝ่ายสายเถรวาทฝ่ายเดียว ฝ่ายที่แตกแยกออกไป ๑๘
นิกายไม่ได้มีส่วนในการเข้าร่วมการสังคายนาด้วย มีประเด็นที่น่าพิจารณาหลายอย่างก็คือ
ข้ออ้างที่ว่าเดียรถีร์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นไม่น่าจะมากมายถึงขนาดนั้น
ตามประวัติว่าพวกนักบวชนอกศาสนาเหล่านั้นหวังลาภสักกการะในพระพุทธศาสนาก็ไม่น่าจะเป็นไปได้
เพราะในสมัยของพระเจ้าอโศกนั้น พระองค์ก็ทรงอุปถัมภ์ทุกลัทธินิกายศาสนา
ดังมีคำกล่าวของพระเจ้าอโศกตอนหนึ่งบนศิลาจารึกว่า
"คนเรานั้นไม่ควรจะยกย่องแต่ศาสนาของตนฝ่ายเดียว หรือตำหนิติเตียนศาสนาของชนพวกอื่น
แต่ควรจะยกย่องศาสนาของชนเหล่าอื่นด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อกระทำได้อย่างนั้น
บุคคลชื่อว่าช่วยเหลือศาสนาของตนให้เจริญก้าวหน้า และได้ชื่อว่าเอื้อเฟื้อต่อศาสนาของชนเหล่าอื่นอีกด้วย
เมื่อกระทำตรงกันข้ามก็ชื่อว่าขุดหลุมฝังศาสนาของตนเอง และยังทำอันตรายต่อศาสนาของชนพวกอื่นอีกด้วย
ใครก็ตามที่ยกย่องแต่ศาสนาของตน และตำหนิติเตียนศาสนาของชนเหล่าอื่น
โดยมีความจงรักภักดีต่อศาสนาของตนเองด้วยคิดว่าเราจะยกย่องเชิดชูศาสนาของตน
ตรงกันข้ามด้วยการกระทำอย่างนั้น เขาชื่อว่าทำร้ายศาสนาของตนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น
ความปรองดองกันเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ทุกคนจงตั้งใจฟัง
และเต็มใจที่จะฟังหลักธรรมคำสอนที่คนอื่นสอนด้วย"๑

What the Buddha taught, Venerable Dr. W . Rahula, press in Bangkok, B.E. 2533 p. 4



ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่เมืองปาฏลีบุตร ปัจจุบันเรียกว่าเมืองปัตตนะ รัฐพิหาร เสร็จสิ้นแล้ว
เมืองปาฏลีบุตรก็เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงประสงค์จะให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยังนานาประเทศ
จึงทรงแต่งตั้งศาสนทูตให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามประเทศน้อยใหญ่
ในศิลาจารึกปรากฏว่าศาสนทูตของพระเจ้าอโศกได้ออกไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามประเทศทางตะวันตก
ถึงแคว้นไซบีเรีย อียิปต์ และมาซิโดเนียในยุโรป
ส่วนประเทศที่ใกล้เคียงติดต่อกับราชอาณาจักรของพระเจ้าอโศก และประเทศทางตะวันออกนี้ ก็ปรากฏว่า
พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระให้เลือกส่งพระอรหันต์ไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสน
า มีชื่อประเทศและนามพระอรหันต์ที่แยกย้ายกันไปในครั้งนั้น
ได้แต่งไว้เป็นคาถาในคัมภีร์มหาวงศ์ไว้ดังนี้
เถโร โมคฺคลฺลิปุตฺโต โสชินสาสนโชตโก
นิฏฺฐาเปตฺวาน สงฺคีตึเปกฺขมาโน อนาคตํ
สาสนสฺส ปติฏฐานํปจฺจนฺเตสุ อเวกฺขิย
เปเสสิ กตฺติเก มาเสเต เต เถเร ตหึ ตหึ
เถรํ กสมิรคนฺธารํมชฺฌนฺติกมเปสยิ
อเปสยิ มหาเทวเถรํ มหีสมณฺฑลํ
วนวาสึ อเปเสสิเถรํ รกฺขิตนามกํ
ตถา ปรนฺตกํ โยนํธมฺมรกฺขิตนามกํ
มหารฏฺฐํ มหาธมฺมรกฺขิตตฺเถรนามกํ
มหารกฺขิตเถรนฺตุโยนโลกมเปสยิ
เปเสสิ มชฺฌิมํ เถรํหิมวนฺตปฺปเทสกํ
สุวณฺณภูมึ เถเร เทฺวโสณํ อุตฺตรเมว จ
มหามหินฺทเถรํ ตํเถรํ อิทฺธิยวุตติยํ
สมฺพลํ ภทฺทสาลญฺจสเก สทฺธิวิหาริเก
ลงฺกาทีเป มนุญฺญมฺหิมนุญฺญชินสาสนํ
ปติฏฺฐเปถ ตุเมฺหติปญฺจ เถเร อเปสยิ.

รายชื่อพระสมณทูตที่ได้ส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามประเทศต่าง ๆ ๙ สาย๑ ก็คือ
๑. พระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นกัศมีระและแคว้นคันธาระ แถบแคชเมียร์ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ทุกวันนี้
อยู่ปลายแดนแถบเขตอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ
๒. พระมหาเทวะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มหิสกมณฑล ได้แก่ แถบอินเดียตอนใต้ แม่น้ำโคธาวารี
เขตรัฐไมซอร์ในปัจจุบัน
๓. พระรักขิตเถระ ไปวนวาสี แคว้นกนรา เขตเมืองบอมย์ในปัจจุบัน
๔. พระโยนกธรรมรักขิต ไปอปรันตกประเทศ เข้าใจว่าชายแดนปัญจาบข้างตะวันตก
๕. พระมหาธรรมรักขิต ไปมหารัฐประเทศ ปัจจุบันได้แก่ อันธรประเทศ
๖. พระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ คือดินแดนแถบเปอร์เซีย ในทวีปเอเซียกลาง
เหนืออิหร่านขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน
๗. พระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันตประเทศ คือเมืองที่อยู่ในหุบเขาหิมาลัยปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศเนปาล
๘. พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ ไปสุวรรณภูมิ ปัจจุบันก็คือ พม่า มอญ และไทย
๙. พระมหินทเถระ ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าอโศกกับภิกษุอีกหลายรูปไปประเทศลังกา


๑ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ พ.ศ. ๒๕๐๕ น. ๓๙



บ่อเกิดของนิกายและหลักธรรมที่สำคัญ
เป็นเรื่องปกติธรรมดาของศาสนาใหญ่ ๆ ที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีข้อแตกต่าง
การปฏิบัติและความเห็นในการตีความหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสดาที่ตนเองนับถืออาจไม่ตรงกันบ้างก็ต้องถือว่าเ
ป็นเรื่องธรรมดา เช่น ศาสนาคริสต์ก็ยังแตกเป็นโรมันคาทอลิค และโปรเตสเตนต์ ของอิสลามก็ยังมีนิกายชีอะห์
และซุนนี่ เป็นต้น พระพุทธศาสนาก็เช่นกันมีเถรวาท มีมหายาน
จุดหักเหที่สำคัญที่ทำให้มีความคิดเห็นแตกต่างกันของศาสนาต่าง ๆ ก็คือ สีลสามัญญตา
การปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ไม่ตรงกัน และทิฏฐิสามัญญตา ความเห็นที่ไม่ตรงกัน
สองสาเหตุนี้เองเป็นบ่อเกิดที่ทำให้เกิดลัทธิ นิกาย ความเชื่อ การปฏิบัติที่แตกต่างกันได้
แม้แต่ในศาสนาเดียวกันเมื่อศาสดาของศาสนานั้น ๆ ยังอยู่ ความแตกแยกในข้อปฏิบัติก็ยังไม่เกิดขึ้น
เมื่อศาสดาต่าง ๆ ไม่มีอยู่แล้ว ความคิดความเห็นในหลักธรรมข้อปฏิบัติก็ตีความต่างกันออกไป
เป็นเหตุให้เกิดนิกายต่าง ๆ มากมาย ต่อไปนี้จะนำมากล่าวเฉพาะนิกายที่สำคัญ ๆ ในสมัยพุทธกาลดังต่อไปนี้

นิกายมหาสังฆิกะ
นิกายมหาสังฆิกะนี้ถือได้ว่าเป็นต้นตระกูลบรรพบุรุษของมหายานเลยทีเดียว
นิกายนี้เริ่มมีรอยร้าวกับนิกายเถรวาทตั้งแต่เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๑
ที่ฝ่ายเถรวาทไม่ได้เชิญฝ่ายมหาสังฆิกะเข้าร่วมสังคายนาด้วย
เป็นสาเหตุของการไม่ยอมรับมติของการประชุมสังคายนา เพราะฝ่ายมหาสังฆิกะ
ก็ถือว่าตนเองก็ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน
ก็จะถือปฏิบัติตามที่ตนเองได้ยินได้ฟังมา ในคัมภีร์ทีปวงศ์๑ กล่าวว่า
ภิกษุฝ่ายมหาสังฆิกะปฏิเสธคัมภีร์อภิธรรม ชาดก ปฏิสัมภิทามรรค นิเทศ และคัมภีร์บริวาร
แล้วได้แต่งพระสูตรเทียมและพระวินัยเทียมขึ้น ทีปวงศ์เป็นคัมภีร์ของพวกเถรวาทเขียน
เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องยกย่องฝ่ายตน คัมภีร์ที่ฝ่ายมหาสังฆิกะปฏิเสธนั้น
ไม่ใช่สุตตันตปิฎกหรือวินัยปิฎก แต่เป็นหนังสือขยายความพุทธพจน์ พวกมหาสังฆิกะมีปัญจปิฎก นอกจากพระวินัย
พระสูตร และพระอภิธรรม ยังเพิ่มโพธิสัตวปิฎก และธารณีปิฎกเข้ามา บางที ๒ ปิฎกข้างหลังนี้
ที่ท่านผู้แต่งคัมภีร์ทีปวงศ์กล่าวว่า แต่งพระสูตรเทียม พระวินัยเทียมขึ้น
นิกายมหาสังฆิกะใช้ภาษาปรากฤตจารึกพระปิฎก เราสามารถสรุปทัศนะของนิกายมหาสังฆิกะโดยย่อได้ดังนี้
ทัศนะเกี่ยวกับพุทธลักษณะ มหาสังฆิกะถือว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั้นไม่ประกอบด้วยกามสัญญา วิหิงสาสัญญา
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายอาจไปถือกำเนิดในอบายภูมิได้เพื่อโปรดสัตว์
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเมื่อประสูติย่อมเสด็จออกมาทางปรัศเบื้องขวา
มหาสังฆิกะถือว่า พระโพธิสัตว์ไปถือกำเนิดในอบาย ๔ นั้น ไม่ใช่ไปด้วยอำนาจอกุศลกรรม
แต่ไปด้วยอำนาจความกรุณาที่จะไปโปรดสัตว์ในรูปลักษณะของสัตว์นั้น ๆ
มหาสังฆิกะถือว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระชนมายุไม่มีขอบเขต เป็นอมตะ การที่เราเห็นพระองค์แก่เฒ่า
ประชวรและปรินิพพานนั้น เป็นเพียงอุบายของพระองค์ที่แสดงให้เห็นเป็นไปเท่านั้น
พระองค์มีโลกุตตรภาวะทั้งรูปกายและนามกาย
มหาสังฆิกะถือว่า พระอรหันต์ไม่เสื่อมจากมรรคผล แต่พระโสดาบันเสื่อมจากมรรคผลได้
มหาสังฆิกะถือว่า "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตํ"
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ปภัสสร แต่จิตนั้นแลต้องเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสที่จรมา
และจิตนั้นแลพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา

นิกายสรวาสติ
นิกายสรวาสตินี้เป็นนิกายที่แยกออกจากเถรวาท เป็นคู่แข่งกับมหาสังฆิกะ
ศูนย์กลางของนิกายนี้อยู่ในแคว้นกาศมีระ คันธาระ และอัฟกานิสถาน พระไตรปิฎกของของนิกายนี้ใช้ภาษาสันสกฤต
นิกายนี้เผยแผ่หนักไปในทางอภิธรรม จึงมีนามเรียกใหม่ว่า "อภิธรรมวาที"๒
อภิธรรมปิฎกของนิกายนี้กับทั้งปกรณ์พิเศษที่สำคัญ แม้ต้นฉบับภาษาสันสกฤตจะสูญหายไปแล้ว
แต่ในภาคภาษาจีนได้แปลรักษาเอาไว้หมด เพราะฉะนั้นการค้นคว้าทางปรัชญาจากสำนักนี้
จึงต้องอาศัยพระไตรปิฎกจีนเป็นมาตรฐาน
วินัยปิฎกของนิกายนี้เรียกว่า "มูลสรวาสติวาท" "ภิกษุวินยะ"
"ภิกษุณีวินยะ" ส่วนใหญ่คล้ายกับวินัยปิฎกภาษาบาลี พระสูตรเรียกว่า "อาคม" เช่น
ทีฆนิกายก็เรียกว่า ทีรฆาคม สังยุตตนิกายก็เรียกว่า สังยุตตาคม เป็นต้น ส่วนอภิธรรมนั้นมี ๗
ปกรณ์เช่นเดียวกับบาลี แต่ชื่อปกรณ์และเนื้อความแตกต่างกันคือ
๑. อภิธรรมสังคีติบรรยายปาทศาสตร์
๒. อภิธรรมสกันธปาทศาสตร์
๓. อภิธรรมปรัชญาปติปาทศาสตร์
๔. อภิธรรมวิชญาณกายปาทศาสตร์
๕. อภิธรรมปกรณ์ปาทศาสตร์
๖. อภิธรรมธาตุกายปาทศาสตร์
๗. อภิธรรมชฺญาณปรสฺถานศาสตร์

หลักธรรมสำคัญของนิกายสรวาสติวาท
นิกายนี้เป็นประเภทสัจจนิยม (Realism) สภาวธรรมทุกสิ่งเป็นของมีอยู่จริง โดยถือเอาสภาวธรรมว่า
ขึ้นชื่อว่าเป็นสภาวะแล้ว จะต้องมีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวของมันเอง ตลอดอดีต ปัจจุบัน อนาคต
แต่พฤติการณ์ของสภาวธรรมเปลี่ยนแปลงไปได้ เปรียบเหมือนผืนผ้าผืนหนึ่งเมื่อไปย้อมดำ เราก็เรียกว่าผ้าดำ
ผ้าผืนนั้นละจากความขาวไปสู่ความดำ แต่ไม่ละจากความเป็นผืนเดียวกันฉันใด สภาวธรรมมีขันธ์ ธาตุ อายตนะ
ก็อาจมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปตามกาล แต่ไม่ละความเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ในตัวมันเองฉันนั้น
ด้วยเหตุผลข้อนี้นิกายนี้จึงยืนยันว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายเถรวาทที่ถือว่า มีอยู่เฉพาะปัจจุบัน อดีตดับไปแล้ว
อนาคตยังไม่เกิดขึ้น
นิกายสรวาสติวาทถือว่า พระอรหันต์มี ๒ อย่างคือ สมยวิมุตติอรหันต์ และอสมยวิมุตติอรหันต์
ประเภทแรกเสื่อมจากมรรคผลได้เพราะการบรรลุอรหันต์ต้องอาศัยโภชนสัปปายะ เสนาสนสัปปายะ อุตุสัปปายะ
ส่วนอสมยวิมุตติอรหันต์การบรรลุไม่ต้องอาศัยกรณีแวดล้อม เพราะฉะนั้น จึงไม่เสื่อม
ฝ่ายเถรวาทคัดค้านว่า นิกายสรวาสติวาทนี้เข้าใจพุทธพจน์ผิด
ในอรรถกถาปุคคลบัญญัติอธิบายสมยวิมุตติบุคคลว่าได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี
ท่านได้ฌานแล้วเสื่อมเพราะเหตุแห่งวัตตเภทบางอย่าง เช่น พระโสดาบันตั้งใจว่าจะกวาดเสนาสนะ
แต่เผลอลืมไปเข้าสมาบัติก็เข้าไม่ได้ เพราะว่ามีจิตกังวลอยู่ว่าเราจะทำอะไร เป็นต้น
เมื่อไปทำสิ่งนั้นแล้วก็สามารถเข้าสมาบัติได้ ส่วนพระอนาคามีและพระอรหันต์ทุกจำพวกไม่เสื่อมจากมรรคผล
นิกายนี้ถือว่า มีอันตรภพอยู่ระหว่างจุติและปฏิสนธิ คือสัตว์ที่ทำลายขันธ์ในโลกนี้แล้วจะไปอยู่ในอันตรภพ
๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง เดือนหนึ่งบ้าง เพื่อรอคอยปฏิสนธิ นิกายนี้อ้างพุทธภาษิตในกรณียเมตตสูตรว่า
"สัมภเวสี" คือสัตว์ผู้แสวงหาภพ มตินี้ฝ่ายเถรวาทคัดค้านว่า
สัตว์ผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหายังไม่หมดสิ้น โดยความหมายก็ได้แก่
พระอนาคามีลงมาจนถึงสัตว์ในอบายย่อมชื่อว่าสัมภเวสีทั้งนั้น

นิกายวัชชีบุตร
นิกายนี้ได้กล่าวมาแล้วเมื่อตอนทำสังคายนาครั้งที่ ๒ มีความขัดแย้งกับฝ่ายเถรวาทในเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ
นิกายนี้มีความรุ่งเรืองมากในมคธและขยายไปยังอินเดียตอนใต้ตลอดไปจนตะวันตก
เนื่องจากนิกายนี้ยอมรับในเรื่องอาตมันจึงถูกนิกายอื่นโจมตีอย่างมาก และมีความเชื่อในเรื่อง
"บุคคล" หรือว่า "อัตตา" ว่ามีอยู่โดยปรมัตถ์
ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามกับหลักอนัตตาของพระพุทธศาสนา แต่พวกวัชชีบุตรก็อธิบายเลี่ยงไปว่า
"บุคคล" ของเขาไม่ใช่ขันธ์ ๕ และไม่อื่นไปจากขันธ์ ๕ เหมือนกับไฟ ไม่ใช่เชื้อไฟ
แต่ก็ไม่ใช่อื่นไปจากเชื้อไฟ ความคิดเช่นนี้จึงถูกนิกายอื่นโจมตีอย่างมาก เรียกว่าเป็นนิกายนอกคอก

นิกายธรรมคุปตะ
นิกายธรรมคุปตะนี้มีทัศนะว่า ทานที่บุคคลถวายแด่พระพุทธเจ้านั้นมีอานิสงส์มากกว่าทานที่บุคคลถวายในสงฆ์
ฝ่ายเถรวาทไม่เห็นด้วยโดยยกเอาพุทธภาษิตที่ทรงตรัสว่า ทานที่บุคคลถวายแด่สงฆ์ทั้ง ๔ ทิศ
ย่อมเป็นการบูชาพระองค์ด้วย เป็นทานที่มีผลมาก
นิกายธรรมคุปตะยังถือว่าการบูชาพระสถูปเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุได้บุญมากกว่าการถวายสังฆทาน

นิกายเสาตฺรนฺติกวาท
นิกายนี้กล่าวโจมตีอภิธรรมว่า ไม่ใช่พุทธพจน์ เผยแผ่แต่พระสูตรกับพระวินัยเท่านั้น
เป็นคู่ปรับสำคัญกับนิกายสรวาสติวาท ซึ่งเผยแผ่แต่เรื่องอภิธรรม
ต่างฝ่ายต่างมีหนังสือหักล้างซึ่งกันและกัน นิกายเสาตฺรนฺติกะ เชื่อว่าทุก ๆ คนมีธาตุแห่งพุทธะอยู่ในตัว
ซึ่งเป็นต้นเค้าของมหายานสาขาหนึ่ง

๑ เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๑ น. ๖๗
๒ เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, เรื่องเดิม น. ๖๙



พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา
พระเจ้าพินทุสารมีพระราชโอรสเป็นจำนวนมาก พระโอรสพระองค์ใหญ่คือสุสิมะ
พระราชโอรสที่สำคัญอีกพระองค์หนึ่งคือ "พระเจ้าอโศกมหาราช"
ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระนามของพระเจ้าอโศกในศิลาจารึกเรียกว่า
"เทวานัมปิยทัสสี" แปลว่า กษัตริย์ผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพเจ้า
พระองค์ได้แผ่แสนยานุภาพครอบงำตั้งแต่เทือกภูเขาหิมาลัย ลงไปถึงปลายแหลมอินเดีย
เป็นพระจักรพรรดิองค์แรกของอินเดีย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในราชสำนักของยุโรป
ในชั้นเดิมนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชทรงนับถือพวกอาชีวกนอกพระพุทธศาสนาตามพระราชมารดา
มูลเหตุที่ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมานับถือพระพุทธศาสนา เป็นเหตุการณ์หลังจากที่ทรงเสวยราชย์แล้ว ๘ ปี
เมื่อพระองค์กรีธากองทัพไปบุกรุกราชอาณาจักรโอริสา คือแคว้นกาลิงคะ ซึ่งมีนครหลวงชื่อว่า ทันตะปุระ
ในสมรภูมิครั้งนี้ ประชาชนชาวโอริสาถูกฆ่าตายไปต่อหน้าพระพักตร์กว่าแสนคน
ได้สร้างความสะเทือนใจอย่างหนักแก่พระเจ้าจักรพรรดิองค์นี้
พระองค์ได้กล่าวความรู้สึกของพระองค์ไว้ในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า
"ในสงครามกาลิงคะคราวนี้ ข้าได้เห็นคนจำนวนมากกว่าแสนถูกประหารชีวิต คนเหล่านี้ ไม่ใช่ทหาร
หลังจากนั้นข้าก็รู้สึกเสียใจต่อการกระทำครั้งนี้ ข้าเริ่มมุ่งหาธรรมะ เริ่มฝักใฝ่ในธรรม
เพราะข้าประจักษ์แล้วว่า ชัยชนะอันสูงสุดนั้นมิได้เกิดจากแสนยานุภาพใด ๆ แต่ต้องเป็นชัยชนะโดยธรรม
ซึ่งจะเผล็ดผลคือความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงขอประกาศแก่บรรดาบุตรหลานของข้าว่า จงทำแต่ธรรมวิชัย
อย่าทำยุทธวิชัยเลย"
พระเจ้าอโศกได้พิจารณาลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในอินเดียอย่างรอบคอบ
ในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยเลือกพระพุทธศาสนา
พระคณาจารย์สองรูปในพระพุทธศาสนาได้เป็นผู้สอนธรรมแด่พระองค์
องค์หนึ่งคือพระอุปคุปต์เถระเป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท อีกองค์หนึ่งคือ
พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นภิกษุในนิกายเถรวาท
พระเจ้าอโศกได้ทรงนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการปกครอง เรื่องราวต่าง ๆ
มีปรากฏในหลักศิลาจารึกของพระองค์มากมาย เราสามารถสรุป ชีวประวัติของพระองค์ได้ดังนี้
ทรงเริ่มขบวนการธรรมยาตรา โดยเสด็จเป็นตัวอย่างและมีคำกล่าวในหลักศิลาจารึกว่า
"แต่ก่อนนี้ราษฎรทั้งหลาย จะได้ยินเสียงแต่ยุทธเภรี เสียงช้าง เสียงม้า เสียงโล่ห์
ศาสตราวุธกระทบกัน ครั้นมาบัดนี้ ราษฎรทั้งหลายจักได้ยินแต่เสียงธรรมเภรีแทน มีแต่เสียงเชิญชวนไปฟังธรรม
เสียงเชิญชวนให้ไปปฏิบัติธรรม ส่วนตัวของข้าเอง แต่ก่อนนี้มีแต่เสด็จเพื่อยุทธวิชัย
หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการประพาสล่าสัตว์ ครั้นมาบัดนี้ ข้าเสด็จไปเพื่อธรรมวิชัย
และการประพาสของข้าก็คือการเที่ยวถวายสักการะปูชนียสถานต่าง ๆ เยี่ยมเยือนสมณพราหมณ์ตามวัดต่าง ๆ
หรือสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น"
ทรงประกาศห้ามฆ่าสัตว์ ทรงสร้างโรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์จึงนับได้ว่าเป็นแห่งแรกของโลก
ทรงดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์คือ สร้างโรงเลี้ยง คนทุพพลภาพ คนชรา เด็กอนาถา
ทรงขุดบ่อสาธารณะทุกหนแห่งทั่วประเทศ ทรงปลูกต้นยาสมุนไพรให้เป็นทานแก่คนและสัตว์ทั่วประเทศ
ทรงตั้งเจ้าหน้าที่กวดขันการปฏิบัติธรรม เรียกว่าธรรมมหาอำมาตย์
มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติของข้าราชการ และชักชวนประชาชนให้มุ่งปฏิบัติธรรม
ข้าราชการปฏิบัติธรรมดีก็ทรงประทานรางวัลให้
ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านี้มีอยู่ประจำอยู่ทุกเมืองทุกแคว้นขึ้นตรงต่อพระองค์
ตรัสสั่งให้ไปประกาศแก่ชาวชนบทว่า ราษฎรทั้งหลายเป็นลูกของข้า
ธรรมดาพ่อย่อมมีความปรารถนาดีในลูกของตนฉันใด ข้าก็มีความปรารถนาให้ราษฎรทั้งหลายมีความสุขทั้งในภพนี้
ภพหน้า เพราะฉะนั้น ข้าราชการทั้งหลายอย่าโกงราษฎรซึ่งเท่ากับโกงลูกของข้าด้วย
ทรงดำเนินงานพระธรรมทูต ภายใต้การแนะนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
พระองค์ได้ส่งคณะธรรมทูตออกไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในทิศต่าง ๆ ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ
ก่อนหน้ารัชสมัยของพระองค์นั้น พระพุทธศาสนามีแพร่หลายเพียงในเขตลุ่มแม่น้ำคงคาและยมุนาเท่านั้น
แต่ถึงสมัยพระองค์กลายเป็นศาสนาที่แพร่หลายไปทั่วอินเดียและในต่างประเทศอีกด้วย
โดยเฉพาะต่างประเทศได้ส่งพระธรรมทูตไปถึงอัฟกานิสถาน ซีเรีย อียิปต์ และประเทศกรีกในยุโรป
ฝรั่งชาติแรกที่นับถือพระพุทธศาสนาคือฝรั่งชาติกรีก และพระอรหันต์องค์แรกชื่อว่า พระโยนกธรรมรักขิต





พระเจ้ากนิษกะมหาราช
ตามประวัติศาสตร์อันยาวนาน พระมหากษัตริย์ที่ปกครองดินแดนชมพูทวีป
พระเจ้าอโศกมหาราชนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีประวัติที่เด่นและดีงามที่สุดในสายตาของชาวพุทธทั่วโลก
ต่อจากพระเจ้าอโศกก็คือ พระเจ้ากนิษกะมหาราช อยู่ในราวปลายศตวรรษที่ ๕
พระองค์สืบเชื้อสายมาจากเผ่าอินโดไซเธียน ได้อพยพลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำอมูดาเรียในเตอรกีสถานตะวันตก
ทำลายอาณาจักรบากเตรีย ซึ่งเป็นอาณาจักรของพวกกรีกลงได้ แล้วแผ่อิทธิพลเข้ามาสู่อัฟกานิสถาน
ในตอนนี้พวกอินโดไซเธียนได้รับอารยธรรมของอินเดียทางภาษาไว้เป็นจำนวนมาก เช่น พระนามของพระเจ้า
"กนิษกะ" เป็นต้น พระเจ้ากนิษกะทรงยึดแบบการทำงานของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหลัก
พระองค์ทรงขยายอาณาเขตออกกว้างขวางมาก จักรวรรดิของพระองค์เริ่มจากเตอรกีสถานลงมาถึงลุ่มแม่น้ำคงคา
พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นพุทธมามกะนับถือพระพุทธศาสนา ทรงให้การทำนุบำรุง รักษา
ก่อสร้างศาสนสถานขึ้นเป็นอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยดี พระราชกิจประจำเดือนก็คือ
การอาราธนาพระเถระในนิกายต่าง ๆ เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาในพระราชวัง
แต่เนื่องด้วยรัชสมัยที่พระเจ้ากนิษกะครองราชย์นั้น พระสงฆ์มีความแตกแยกกันทางนิกายมาก
พระธรรมเทศนาที่ท่านแสดงบางเรื่องก็ขัดกันเอง ทำให้พระเจ้ากนิษกะมหาราชเกิดความสงสัย
จึงได้เรียนปรึกษากับพระปารศวะซึ่งเป็นพระเถระในนิกายสรวาสติวาท คณะสงฆ์ในนิกายสรวาสติวาท
จึงขอร้องให้พระองค์ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนา สังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นที่กุณฑลวันวิหาร แคว้นกาศมีระ
มีภิกษุและบัณฑิตคฤหัสถ์เข้าประชุมร่วมกัน โดยมีพระปารศวะเป็นประธาน และยังมีพระเถระที่สำคัญอีกเช่น
พระวสุมิตร พระอัศวโฆส เป็นต้น ที่ประชุมได้ร้อยกรองอรรถกถา พระไตรปิฎก เรียกว่า วิภาษาปิฎก
ปิฎกละแสนโศลก รวมสามแสนโศลก
พระเจ้ากนิษกะโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกและอรรถกถาเหล่านี้ไว้ในแผ่นทองแดง
แล้วบรรจุไว้ในพระสถูปแล้วรักษาไว้มั่นคงเป็นต้นฉบับหลวง
และการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นการทำสังคายนาของฝ่ายนิกายสรวาสติวาท จึงไม่มีปรากฏในฝ่ายปกรณ์บาลีเลย
อันนี้เราก็จะเห็นได้ชัดว่า
เป็นความขัดแย้งกันทางด้านความคิดไม่ต้องการที่จะเชิดชูฝ่ายตรงกันข้ามกับนิกายที่ตนเองนับถือนั่นเอง
ด้วยราชานุภาพของพระเจ้ากนิษกะพระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทางฝ่ายเหนือของอินเดีย
รวมทั้งประเทศจีนก็พลอยได้รับเอาพระพุทธศาสนาไปในตอนนี้ด้วย


บ่อเกิดของการสร้างพระพุทธรูป
คนอินเดียที่นับถือพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลหรือแม้กระทั่งหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
การที่จะสร้างรูปเคารพของพระองค์ไว้สักการะบูชาไม่ใคร่จะนิยมสร้างกัน
เพราะถือว่าเป็นการล้อเลียนหรือแสดงออกในลักษณะที่ไม่เคารพต่อพระองค์ แต่เมื่อกาลผ่านพ้นไปนานเข้า
เมื่อชนชาติกรีกได้กรีธาทัพเข้ามายึดครองอินเดีย และชนชาติกรีกนี้เองก็ได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
หันเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้าจะมานับถือพระพุทธศาสนา
พวกกรีกนับถือพวกเทวรูปมาก่อนแล้ว เช่น เทวรูปอะพอลโล วีนัส เป็นต้น
ชนชาติกรีกนั้นเป็นชาติที่แกะสลักหินที่เก่งที่สุดของโลก เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่งศิลปะของการแกะสลัก
ดังนั้น กรีกจึงถือว่าเป็นชนชาติแรกของโลกที่สร้าง "พุทธรูป" ขึ้น
และพระพุทธรูปองค์แรกก็ถูกสร้างขึ้นที่คันธาระ
ก็ด้วยแรงบันดาลใจที่กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนาและต้องการสร้างพระพุทธรูปแทนเทวรูปให้ใกล้เคียงเหมือนมน
ุษย์ที่สุดไว้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธคุณต่อไป
พระพุทธรูปรุ่นแรกจึงนิยมเรียกกันว่า "พระพุทธรูปแบบคันธาระ"๑ ดวงพระพักตร์กลม
พระนาสิกโด่งอย่างฝรั่ง ส่วนพระวรกายเห็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น อย่างชัดเจนภายใต้จีวรบาง ๆ
พระพุทธรูปแบบนี้มีการขุดค้นพบมากมายในตอนเหนือของอินเดียและอัฟกานิสถาน
ต่อมาจากนั้นอีกไม่นานก็เกิดพุทธศิลป์แบบอินเดียแท้ขึ้นมา เช่น ที่เมืองมถุราและเมืองอมราวดี
ที่เมืองอมราวดีนี้ เป็นเมืองสำคัญของรัฐอันธระในอินเดียตอนใต้ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก
ในราวศตวรรษที่ ๗ - ๘ มีการสร้างพระสถูปใหญ่และพระพุทธรูปแบบอินเดียบริสุทธิ์ พระเกสาขมวดเป็นก้นหอย
มีพระวรกายลักษณะเหมือนมนุษย์ ไม่เหมือนแบบคันธาระ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
การสร้างพระพุทธรูปจึงแพร่หลายไปยังนานาอารยประเทศทั้งหลายในแถบเอเซีย
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า
พระพุทธรูปหินประทับยืนที่มีอายุถึง ๒,๐๐๐ ปีเศษ สมัยคันธาระที่แกะสลักไว้ที่หน้าผาของเมืองบามิยัน
(Town of Bamiyan) เป็นพระพุทธรูปประทับยืนแกะสลักที่สูงที่สุดในโลก เป็นศิลปะที่ล้ำค่าหาที่เปรียบเทียบ
มิได้ของชาวพุทธก็ได้ถูกระเบิดทำลายลงโดยกลุ่มผู้นำตาลีบัน (Taleban)
ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศอัฟกานิสถาน
การทำลายประติมากรรมพระพุทธรูปหินซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกโลกครั้งนี้ของตาลีบัน ได้ถูกประณามจากทั่วโลก
เป็นที่น่าเศร้าสลดใจอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธทั่วโลก
แม้แต่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามก็ยังไม่เห็นด้วยกับการทำลายครั้งนี้ ประธานาธิบดีของประเทศอิหร่าน
มูฮัมหมัด คาตามี (Mohammad Khatami) ก็ร่วมประณามกลุ่มตาลีบันว่าเป็นการกระทำที่ผิดพฤติกรรมของมนุษย์
เราจะเห็นได้ว่าประเทศที่เป็นอิสลามมีจิตใจเป็นธรรมเข้าใจในความเป็นมรดกโลกก็ยังไม่เห็นด้วย
แม้ประเทศแถบยุโรปที่นับถือศาสนาคริสต์ก็ประณามในการกระทำของกลุ่มตาลีบันครั้งนี้ทั่วโลก
แต่กลุ่มตาลีบันกลับอ้างว่าเป็นเหมือนการทำลายเศษหินเศษปูนเท่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าแต่อย่างใด
กลับเป็นความภูมิใจของเขา และพวกเขาต้องการทำประเทศอัฟกานิสถานให้เป็นรัฐอิสลามที่บริสุทธิ์ของโลก ( The
World's Purest Islamic State)
แต่น่าเสียดายพวกเขาได้ทำลายประวัติศาสตร์อารยธรรมของประเทศตนและมรดกโลกอย่างไม่มีวันจะหวนกลับมาดั่งเดิ
มอีกต่อไป


๑ เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา , เรื่องเดิม น. ๑๐๙
http://asia.cnn.com/2001/WORLD/asiapcf/central/03/05/afghanistan.m5/index.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น